น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ว่า คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร มีมติเห็นชอบประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรเพิ่มเติม 7 เรื่อง ได้แก่ 1. GAP ฟาร์มจิ้งหรีด 2. GAP ฟาร์มไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อย 3. ไหมอินทรีย์ 4. แนวปฏิบัติการผลิตเชื้อเห็ด 5. สารพิษตกค้าง 6. มะนาว และ 7. แตงกวา

โดยมี 3 เรื่อง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการผลิตอย่างแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและมีโอกาสทางการตลาดสูง ได้แก่ มาตรฐาน GAP ฟาร์มจิ้งหรีด มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่พื้นเมืองแบบเลี้ยงปล่อย และมาตรฐานสินค้าไหมอินทรีย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนายกระดับการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย ต่อผู้บริโภคภายในประเทศและเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดส่งออกในต่างประเทศมากขึ้นอีกด้วย

จิ้งหรีดเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มทางการตลาดดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด มากกว่า 20,000 ราย ผลผลิตปีละ 7,500 ตัน มีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบริโภคภายในประเทศ เริ่มมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านและประเทศตะวันตกบางประเทศ

ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานGAP ฟาร์มจิ้งหรีด จะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด ผู้บริโภค และประเทศผู้นำเข้าได้ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป หรือ อียู ซึ่งจัดให้แมลงเป็นอาหารชนิดใหม่ ประกอบกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) ได้ส่งเสริมให้มีการบริโภคแมลงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากแมลงเป็นอาหารทางเลือกที่มีโปรตีนสูงราคาถูก และสามารถผลิตได้ง่ายในท้องถิ่น กระทรวงเกษตรฯ จึงจะยกระดับการผลิตจิ้งหรีดให้เป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการส่งออกสูงขึ้น และสามารถช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรด้วย

ส่วนการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากใช้เงินลงทุนน้อย ดูแลจัดการง่าย ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทนต่อโรคได้ดี เมื่อนำมาแปรรูปหรือประกอบอาหารก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่าไก่เนื้อที่เลี้ยงในโรงเรือนแบบปิดเนื่องจากเนื้อแน่นและมีรสชาติดีกว่าปัจจุบันไทยมีไก่พื้นเมืองรวมกว่า 72.4 ล้านตัวทั่วประเทศมีการขยายตัวของธุรกิจการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อการค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐานเพื่อสร้างการยอมรับจากผู้บริโภคและช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดได้

และเรื่องการผลิตไหมอินทรีย์ก็ถือเป็นช่องทางทำเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้อีกช่องทางหนึ่งซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประมาณเกือบ 100,000 ราย มีแนวโน้มที่ตลาดจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินค้าอินทรีย์ เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากไหมอินทรีย์ เช่น แผ่นมาร์กหน้า ดังนั้นการกำหนดมาตรฐานอินทรีย์สำหรับไหมนอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้ว ยังสามารถเพิ่มโอกาสทางการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน