นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอัญมณีไทยถือเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นอุตสาหกรรมอันดับ 3 ที่สร้างมูลค่าการส่งออก รองจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภาพรวมส่งออกในปี 2559 อัญมณีสร้างมูลค่าเม็ดเงินอยู่ที่ราว 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 5 แสนล้านบาท

ขณะที่แนวโน้มการส่งออกในปีนี้ พบว่าตัวเลข 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2560) มีการส่งออกไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้นกรมจึงมั่นใจว่าภาพรวมปีนี้ อัญมณีจะสามารถส่งออกได้ไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังสร้างมูลค่าซื้อขายในประเทศอีกราว 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้อุตสาหกรรมอัญมณี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ได้มากถึง 5.6% และคาดว่าในอนาคต หากมีการผลักดันศักยภาพผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง จะสามารถเพิ่มสัดส่วนจีดีพีได้มากขึ้น

“อัญมณีถือเป็นอุตสาหกรรมของไทยที่มีแนวโน้มการขยายตัวอีกมาก เพราะเรามีศักยภาพทั้งในด้านเทคนิค ความชำนาญ ประกอบกับศิลปะ วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดออกมาไม่เหมือนใคร ดังนั้นนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือการเข้าไปสร้างองค์ความรู้ พัฒนา ต่อยอดศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมการทำอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งนี้ จากการผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณี กรมยังมุ่งหวังให้ไทยขึ้นเป็นผู้ส่งออกติดอันดับ 3 ของโลก ภายในปี 2564”

นางมาลี ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีบุคลากรในอุตสาหกรรมมากกว่า 2 ล้านคน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญ และโอกาส จึงมุ่งส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะเล็งเห็นแล้วว่านอกจากจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อัญมณียังเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่คนไทยทำเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ มักจะเป็นการลงทุนของต่างชาติ

อย่างไรก็ดี ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ภายในปี 2564 ล่าสุดนับเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อทางสมาพันธ์อัญมณีและเครื่องประดับโลก (CIBJO) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ได้คัดเลือกประเทศไทยเพื่อเป็นสถานที่จัดประชุมสมาพันธ์ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 2-7 พ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะมีผู้มีชื่อเสียง ผู้แทนองค์กร นักลงทุน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า 300 ราย จาก 42 ประเทศ

สำหรับกิจกรรมภายในงาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การจัดประชุมสรุปผลการดำเนินงานของคณะทำงานกลุ่มต่างๆ ของทางสมาพันธ์ ทั้งคณะทำงานด้านพลอยสี ด้านเพชร และด้านไข่มุก เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก รวมไปถึงอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ คือ งาน World Ruby Forum 2017 ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับทับทิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน