นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคาร เปิดเผยว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานการประชุมการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือกับสมาคมภัตตาคารไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมเกษตรกรชายแดน จากการหารือกันพบว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทย ยังมีลักษณะการทำงานที่ขัดกับกฎหมายไทยอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะข้อกำหนดเกี่ยวกับ แรงงานต่างด้าวจาก 3 ประเทศคือ เมียนมา กัมพูชา และลาว จะทำงานในประเทศไทยได้เพียง 2 อาชีพเท่านั้น คือกรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน

จึงเท่ากับว่า หลายอาชีพที่คนงานต่างด้าว ทำอยู่ในประเทศไทยผิดกฎหมาย และยังทำงานในส่วนที่เป็นอาชีพสงวนของคนไทยด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้คงต้องแก้ไขไปด้วย เพราะกฏหมายที่กำหนดการทำงานของคนต่างด้าว ใช้มาตั้งแต่ปี 2522 เกือบจะ 40 ปีมาแล้ว

“ต้องยอมรับว่าเราเข้าใจผิดหลายเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว เพราะถ้ายึดหลัก ตาม 39 อาชีพสงวนสําหรับคนไทย ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง งานก่ออิฐ ก็ไม่สามารถทำได้ ส่วนในสาขาที่เกี่ยวกับสมาคมภัตตาคารไทย เท่ากับว่า การเป็นพนักงานเสิร์ฟหรือขายของหน้าร้านก็ผิดกฎหมาย เท่าที่ได้หารือกับร้านอาหารหลายแห่งพบว่า ร้านอาหารส่วนใหญ่แม้จะจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวถูกต้อง แต่ก็ยังต้องจ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงานด้วยเหตุนี้ ด้านธุรกิจก่อสร้างระบุในที่ประชุมด้วยว่าในกลุ่มของพวกเขา แรงงานไม่ได้ไปลงทะเบียนตามที่รัฐบาลขยายระยะเวลาให้ และจะรอจนถึง 180 วัน คือสิ้นเดือนธ.ค. 2560 ที่รัฐบาลกำหนดให้อยู่ในประเทศไทยได้ เพราะแม้ว่าจะส่งไปลงทะเบียนก็อยู่ในประเทศไทยได้แค่เดือนมี.ค. 2561 จึงเป็นเหตุให้แม้ว่ารัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการไปลงทะเบียนคนงานต่างด้าวในไทย จนถึงวันที่ 7 ส.ค. 2560 แต่มีจำนวนผู้ไปลงทะเบียนเพียงกว่า 700,000 คน”

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า นายมีชัยกล่าวในที่ประชุมว่าตามที่ภาคเอกชนระบุว่า มีคนต่างด้าวที่อยู่ในไทยมาก 8-10 ล้านคน ถ้ากระทรวงแรงงานบริหารได้ไม่ดี ให้จัดทำข้อเสนอมาว่าควรจะบริหารอย่างไร เช่น แต่ละสมาคมจะรับไปบริหารจัดการการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเองหรือไม่ และให้แต่ละสมาคมไปรวบรวมข้อมูลมานำเสนอที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการแก้ไขกฏหมายแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2522 ว่าด้วยเรื่องอาชีพที่สงวนไว้ให้คนไทย 39 อาชีพ จำกัดไว้ให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติลาว กัมพูชา เมียนมา มาทำได้เพียงแค่กรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น

นอกจากนี้ ต้องการให้มีการแก้ไขเรื่องใดใน 145 มาตราที่อยู่ภายใต้พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2560 และ บทลงโทษที่ปรับนายจ้างจากที่กำหนด 400,000-800,000 บาท อาจจะเริ่มต้นที่ 50,000 บาท

ส่วนปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวของแต่ละสมาคมมีลักษณะคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะเรื่องการทำงานข้ามเขต เช่น ทำงานในเขตพระนคร แต่ต้องไปทำจัดเลี้ยงในอีกเขตหนึ่งก็โดนจับ หรือธุรกิจก่อสร้างพื้นที่คนงานอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไปทำที่ปทุมธานีก็ผิดเหมือนกัน แต่ตรงนี้ในส่วนของก่อสร้างมีการแก้ไขให้ขออนุญาตเพิ่มเติมไปได้ 4 จังหวัด ซึ่งในข้อเท็จจริงมีคนงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยจำนวนมาก มีหลายคนที่ไม่มีเอกสารอะไรเลยแต่มาอยู่ในบ้านเราได้ หรือบางคนมีพาสปอร์ต และใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาทำงาน พออยู่ได้ 2 เดือน ก็เดินทางออกไปชายแดนและประทับตราบนพาสปอร์ตเข้ามาใหม่ แม้ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานเปิดให้ขออนุญาตได้เป็นระยะแต่ขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลาเยอะเป็นวัน ต้องไปเบียดเสียด สุดท้ายก็ลงเอยที่ต้องจ้างนายหน้าซึ่งอยู่ประจำบริเวณด้านหน้าสำนักงานแต่ละพื้นที่ที่เปิดให้ลงทะเบียน

ด้านแรงงานต่างด้าวแต่ละคนที่จะมาประเทศไทยได้ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในฝั่งของประเทศตัวเองทั้งค่าพาสปอร์ต ถ้าเป็นคนเมียนมาก็ต้องเดินทางไปทำที่เมืองเนปิดอว์ และต้องทำใบอนุญาติเพื่อเข้าอยู่ในส่วนของแรงงานเอ็มโอยู ที่ตรงกับประเทศไทยได้ขอไป แต่ละคนเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 กว่าบาท ส่วนนายจ้างทางฝั่งไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายให้นายหน้า 10,000 กว่าบาท ฉะนั้นคนงานแต่ละคน พอมาทำงานก็จะถูกนายจ้างหักเงินเดือนละ 1,000-2,000 บาทและตามกฏหมายอยู่ได้ 2 ปี และเท่าที่ทราบมาแรงงานต่างด้าว จะมีกรุ๊ปไลน์ พูดคุยกัน เกี่ยวกับการทำงานในแต่ละที่ว่าที่ไหนให้ค่าจ้างสูงกว่า หรือนายจ้างคนไหนดีกว่า ก็จะหนีกันไปหานายจ้างใหม่เลย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน