นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วมฯ ขสมก.) ว่า สมาคมฯ เข้ามาขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) โดยที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกัน 3 ประเด็น คือ 1.สมาคมฯ เห็นด้วยกับการปฏิรูประบบรถเมล์ 269 เส้นทาง

2. กระทรวงคมนาคมจะให้ใบอนุญาตเดินรถในเส้นทางเดิมเป็นเวลา 7 ปี ตามที่สมาคมรถร่วมฯ เรียกร้อง หากรถร่วมฯ รวมตัวเป็นนิติบุคคล 1 ราย และยกระดับบริการได้ตามแผนของกระทรวงคมนาคม เช่น มีการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า (EV) และไฮบริดใหม่ เข้ามาให้บริการ จีพีเอส เพิ่มสวัสดิการคนขับ เป็นต้น โดยในอนาคต เส้นทางเดินรถ 1 สาย จะต้องมีผู้ประกอบการ 1 รายเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่าหากรถร่วมฯ รวมตัวเป็นนิติบุคคลจะมีขนาดใหญ่เท่ากับองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะมีผู้ใช้บริการมากถึง 1.1-1.3 ล้านคนต่อวัน คุณภาพบริการจะดีขึ้นแน่นอน

ส่วนกรณีที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีนโยบายจะให้ใบอนุญาตเดินรถชั่วคราว 2 ปี ก่อนจะออกใบอนุญาตถาวร 7 ปีนั้น เนื่องจากปัจจุบันมีรถร่วมฯ หลายราย ดังนั้นจำเป็นต้องประเมินผลเป็นช่วง 2 ปีก่อน หากรายใดมีประสิทธิภาพสูงสุดจะได้รับใบอนุญาต 7 ปี

“เมื่อรถร่วมฯ รวมตัวเป็นผู้เดินรถ 1 ราย ฐานะจะเทียบเท่า ขสมก. ในอนาคตจะมีผู้เดินรถ 1 ราย ต่อ 1 เส้นทาง ซึ่งจะต้องเร่งรัดหารถใหม่มาวิ่ง ถ้าทำตามเงื่อนไขจึงจะได้รับใบอนุญาต 7 ปี” นายสมศักดิ์กล่าว

นาสมศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 3. กระทรวงคมนาคมมอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะผู้กำกับดูแลรถเมล์ เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระระหว่างรถร่วมฯ กับ ขสมก. มูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท โดยจะไม่มีการยกหนี้ แต่จะให้เอกชนรับสภาพหนี้แบบมีเงื่อนไข

นายสมศักดิ์กล่าวต่อถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและขสมก. จัดหารถเมล์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) 489 คันภายในสิ้นปีนี้ และจัดหารถเมล์ใหม่ 1,000 คันจากผู้ประกอบรถเมล์ในประเทศ ว่า ขสมก. เปิดจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 489 คันรอบใหม่แล้ว คาดว่าจะรับมอบได้ภายในเดือน ธ.ค. 2560 และยังมีมีโครงการจัดหารถเมล์ใหม่ 1,665 คัน ซึ่งสามารถระบุให้เป็นรถที่ผลิตภายในประเทศได้ เช่น อาจจะนำเข้าคัสซี แต่ประกอบตัวรถภายในประเทศ ทั้งนี้ การจัดหารถภายในประเทศอาจจะใช้เวลากว่าการนำเข้า โดยการจัดหารถ 1,665 คันอาจจะใช้เวลาถึง 1 ปี 6 เดือนถึง 2 ปี

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า สมาคมรถร่วมฯ จะเร่งจัดตั้งนิติบุคคลและยกมาตรฐานบริการตามแผนที่เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ในระยะแรกคาดว่าจะมีผู้ประกอบการรถร่วมฯ 34 ราย เข้าร่วมกับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดตั้งเป็นบริษัทประกอบกิจการเดินรถเมล์ ด้วยทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันรถร่วมฯ ทั้ง 34 ราย มีรถเมล์รวม 1,500 คัน มีใบอนุญาตร่วม 60 เส้นทาง และมีหนี้สินที่ติดค้างกับ ขสมก. ประมาณ 500 ล้านบาท

ภายหลังจัดตั้งบริษัทใหม่ ใหม่จะต้องกู้เงินอีก 17,000 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ให้กับผู้ถือหุ้น และจัดซื้อรถเมล์ใหม่อีก 2,000 คัน โดยรถใหม่จะเป็นรถไฟฟ้าหรือไฮบริด เบื้องต้นวางแผนจะเริ่มให้บริการ 100 คันแรกภายในปีใหม่ 2561 และจะจัดซื้อให้ครบทั้งหมดภายใน 1 ปี รวมทั้งจะเสนอขอให้ ขบ. ปรับขึ้นค่าโดยสารเพิ่มเป็น 20 บาทตลอดเส้นทาง เพราะการจัดซื้อรถใหม่มีต้นทุนสูงมาก แต่ทางกลุ่มก็มีโปรโมชั่นเหมาจ่ายในอัตรา 40 บาทต่อวัน เพื่อเป็นตัวเลือก ซึ่งประชาชนจะสามารถขึ้นรถภายในกลุ่มได้ทุกสายและไม่จำกัดจำนวนครั้งภายใน 1 วัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน