นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการเยียวยาสายการบินที่ยังไม่ได้ใบรับรองเดินอากาศใหม่ (รีเอโอซี) ที่จะต้องหยุดทำการบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. นี้เป็นต้นไป คือจะขยายสิทธิ์การบินในเส้นทางในประเทศให้แก่สายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดบิน โดยสายการบินสามารถยื่นขอทำการบินในได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะขยายสิทธิ์การบินให้เป็นเวลาประมาณ 5 เดือน คือเริ่มทำการบิน ตั้งแต่วันนี้-31 ม.ค. 2561

สำหรับเส้นทางบินในประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ สำหรับเส้นทางหลักจะอนุญาตให้บินจำนวนวันละ 1 ไฟล์ต ต่อ 1 เส้นทาง ส่วนเส้นทางบินย่อย หรือเส้นทางที่มีจำนวนผู้โดยสารน้อย เช่น แพร่ ระนอง หรือเส้นทางอื่นที่ไม่เคยบินมาก่อน จะอนุญาตให้บินรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 3 ราย ต่อ 1 เส้นทาง

นอกจากนี้ สายการบินยังสามารถขายตั๋วโดยสารได้ในระบบทั่วไปผ่านเอเยนต์และเคานเตอร์ขายตั๋วตามปกติเหมือนไฟล์ตประจำได้ ส่วนสายการบินที่ไม่เคยบินในประเทศก็สามารถแสดงความจำนงขอตั้งเคาน์เตอร์ขายตั๋วเพิ่มเติมได้ด้วย รวมทั้งยังเห็นชอบให้ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาและกรมท่าอากาศยาน (ทญ.) ซึ่งมีสนามบินในความดูแลจำนวน 28 แห่ง ปรับลดค่าธรรมเนียมค่าจอดเครื่องบินให้กับสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดบินเพื่อให้สามารถนำเครื่องบินมาจอดพักได้

“เราชดเชยสิทธิ์การบินในประเทศให้เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ให้สายการบินมายื่นขอบินชดเชยในช่วงนี้ได้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีสายการบินที่ต้องหยุดบิน ประมาณ 12 ราย โดยขณะนี้มี 3 สายการบินที่ยื่นขอบินชดเชยในเส้นทางในประเทศ คือ ไทยเวียตเจ็ท , โอเรียนท์ไทย และ เอเชีย แอตแลนติกแอร์ไลน์ซึ่ง กพท.อยู่ระหว่างพิจารณา จัดตารางบิน”

นายจุฬากล่าวต่อถึงการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (รีเอโอซี) ให้กับสายการบินระหว่างประเทศ ว่า สัปดาห์หน้าคาดว่าจะมอบเอโอซีใหม่ให้กับสายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส และตามมาด้วย สายการบินเอ็มเจ็ท และ สายการบินเคไมล์ เป็นรายต่อไป และภายในวันที่ 31 ส.ค. จะมอบเอโอซีให้สายการบินได้ประมาณ 9-10 สายการบิน และคาดว่าจะมอบเอโอซีให้สายการบินระหว่างประเทศได้ครบทั้ง 21 ราย ภายในวันที่ 31 ม.ค. 2561

ส่วนความคืบหน้าในการขอให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) เข้ามาตรวจสอบซ้ำ เพื่อปลดธงแดงในโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยสากล (ยูโซฟ) นั้น ได้รับแจ้งว่าไอเคโอจะเดินทางเข้ามามาตรวจสอบไทย ระหว่างวันที่ 18-24 ก.ย. นี้ จะใช้เวลาตรวจสอบ1สัปดาห์เต็ม โดยในวันสุดท้ายของการตรวจจะแจ้งผลการตรวจสอบเบื้องต้น และจะแจ้งผลการตรวจสอบเป็นทางการมาให้รับทราบภายใน 30 วันนับจากวันที่ตรวจ

ส่วนผลการตรสจสอบโครงการตรวจสอบด้านมาตรการการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน (ยูแซฟ) นั้น คาดว่าไอเคโอจะแจ้งผลเป็นทางการมาในช่วงปลายเดือนก.ย.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน