น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังปรับหลักเกณฑ์นาแปลงใหญ่ข้าวปี 2560 ให้มีเกษตรกรจำนวน 30 ราย มีเนื้อที่ 300 ไร่ พบเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 748 กลุ่มจำนวนเกษตรกร 55,050 รายพื้นที่ 750,448 ไร่ ล่าสุดหลังเปิดรับสมัครสมาชิกเพื่อเข้าร่วมโครงการในปี 2561 เกษตรกรให้ความสนใจเป็นอย่างดี โดยมีกลุ่มเกษตรกร 384 กลุ่ม สมัครเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่ใน 34 จังหวัด รวมพื้นที่ 3 แสนกว่าไร่

ทั้งนี้ ปี 2560 กรมการข้าว เข้าไปช่วยเรื่องการลดต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยแจกเมล็ดพันธุ์ดีให้สมาชิกนาแปลงใหญ่แล้ว 2,454 ตัน เกษตรกรได้นำเมล็ดพันธุ์จำนวน 1,258 ตัน ไปเพาะปลูกแล้วสำหรับเมล็ดพันธุ์อีกส่วนหนึ่ง (1,196 ตัน) เกษตรกรนำไปปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อไว้ใช้ในปีหน้า รวมทั้งได้เผยแพร่องค์ความรู้และจัดทำแปลงสาธิตการปลูกแบบหยอดแทนการปลูกแบบหว่าน ซึ่งสามารถลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ได้ จากเดิม 20-30 ก.ก./ไร่ เหลือ 5-10 ก.ก./ไร่ และจัดสรรเครื่องหยอดข้าวให้กลุ่มเกษตรกรยืมตามความเหมาะสมของพื้นที่

นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้กระทรวงเกษตรฯ เข้าช่วยเหลือ และแนะนำเกษตรกรเรื่องการลดต้นทุน/เพิ่มผลผลิต เช่น กรมพัฒนาที่ดินส่งเสริมการบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสดและเพิ่มผลผลิตโดยใช้ฮอร์โมนชีวภาพ กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตรส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี เป็นต้น ในด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิต กรมการข้าว ตรวจรับรองแปลงตามมาตรฐาน GAP ใน จ.นครราชสีมา อุบลราชธานี สกลนคร ลำปาง และกำแพงเพชร แล้ว ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะทยอยตรวจตามแผนที่ได้กำหนดไว้ต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย เสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้เห็นชอบโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวนาแปลงใหญ่ GAP เพื่อรองรับผลผลิตข้าวคุณภาพดีให้ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ผ่านกระบวนการค้าปลีกและค้าส่งในประเทศโดยจับคู่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และข้าว GAP กับผู้ประกอบการและผู้ค้าปลีกค้าส่งอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดกลไกการค้าข้าวคุณธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกัน มีความเกื้อกูลต่อกันอยู่บนพื้นฐานตลาดนำการผลิตโดยเชื่อมโยงตลาดข้าวอย่างบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ ปี 2560 มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 308,100 ไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ GAP 191,450 ไร่โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องซื้อข้าวตามคุณภาพในราคาสูงกว่าตลาด 300-500 บาท โดยจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการชดเชยดอกเบี้ย 3% และช่วยแนะนำช่องทางตลาดให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ กระทรวงพาณิชย์จะจัดสรรโควตา 10% ของโควตาการส่งออกข้าวไป EU จำนวน 2,000 ตัน/ปี และสนับสนุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อการส่งออกตามที่ประเทศผู้ซื้อกำหนด กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลให้การดำเนินงานภายใต้โครงการเชื่อมโยงเป็นไปด้วยความโปร่งใส มุ่งเน้นให้ผลประโยชน์ตกสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอย่างแท้จริง

ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สอบถามรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่กรมการข้าว สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด หรือติดต่อสายด่วนหมอข้าว 1170 กด 4 โดยกรมการข้าวจะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการค้าข้าวที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน