พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสกรณ์ เปิดเผยว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย มายื่นหนังสือและร่วมหารือเกี่ยวกับปัญหาด้านประมง การขาดแคลนแรงงาน การเร่งรัดใช้กฎหมาย และปัญหาจากการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ประมง พ.ศ. 2558 รวมทั้งหมด 4 ข้อ จึงเชิญ กระทรวงแรงงาน กรมเจ้าท่า กรมประมง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้ามาร่วมหารือเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและหาทางออกร่วมกันด้วย

สำหรับข้อเสนอของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย 4 ข้อ ได้แก่ 1.ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคประมงจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการทำประมง กรมแรงงาน กำลังเร่งแก้ปัญหาโดยวางหลักเกณฑ์ขึ้นมา อาทิ การใช้แรงงานจากการการลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การตกลงร่วมกันระหว่างประเทศของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย (จีทูจี) เพื่อจัดส่งแรงงานเข้ามา เป็นต้น ซึ่งการจะทำตามแนวทางต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3-6 เดือน

อย่างไรก็ตาม สมาคมประมงอยากให้มีการเร่งรัดใช้มาตรา 38 ของพ.ร.ก.ประมง 2558 ให้อธิบดีกรมประมง ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือคนประจำเรือ (seabook) แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ได้ใช้แรงงานประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในที่ประชุมได้มีมติให้กระทรวงแรงงานกลับไปทบทวนอีกที ว่าถ้านำพ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 มาใช้จะกระทบกับแนวทางที่กระทรวงแรงงานวางไว้หรือไม่ ซึ่งถ้าไม่กระทบก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำมาใช้

2. การขอให้เร่งรัดการบังคับกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่ามีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องเจ้าหน้าที่ในเรือ ทั้งช่างเครื่อง หรือคนใช้เครื่องยนต์ในเรือ และได้ทำแนวทางการแก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ว่าสำนักงานเขตที่อยู่ตามภูมิภาคไม่รับทราบข้อมูล การปฎิบัติงานจึงยังไม่เกิดขึ้นมา ตนจึงได้สั่งให้อธิบดีกรมเจ้าท่าจัดการเรื่องนี้โดยการให้ออกหนังสือไปยังเขตที่รับผิดชอบทั้งหมดถึงแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการฝึกอบรมให้คนทำงานในเรือสามารถทำหน้าที่ได้ตามแนวทางที่วางไว้

3. การซื้อเรือคืน ขณะนี้กรมประมงมีการล็อกเรือไว้ประมาณ 1,034 ลำ ซึ่งเป็นเรือที่มีข้อผิดพลาดทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่า ทำหลักเกณฑ์แล้ว อาทิ การนำเรือเก่ามาแลกเรือใหม่ที่ล็อกไว้ ส่วนที่เรือที่ผิดขนาดก็มาจดทะเบียนเรือให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าเจ้าของเรือไม่สามารถดำเนินการได้ ก็เสนอขายเรือมา โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณรองรับเพื่อจัดซื้อเรือ เป็นต้น

“สำหรับแนวทางและขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อเรือคืน ตนได้สั่งการอธิบดีกรมเจ้าท่าไปหลายสัปดาห์แล้ว และเริ่มดำเนินไปบางส่วนแล้ว เพียงแต่สมาคมประมงอาจจะไม่ทราบ ผมจึงสั่งให้อธิบดีกรมเจ้าท่า ทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดออกไปอีก อาทิ ขั้นตอนการล็อกเรือ การซื้อเรือคืน จะดำเนินการอย่างไร เป็นต้น”

และ 4. เป็นเรื่องของกฎหมาย หลังจากกรมประมงได้ออกพ.ร.ก. ประมงไปแล้ว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของภาคปฎิบัติบางครั้งส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงทำให้ชาวประมงเดือดร้อน ตนจึงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมประมง กรมเจ้าท่า เชิญสมาคมมาหารือกันอีกครั้ง ว่าประเด็นไหนที่เป็นปัญหา ประเด็นไหนที่แก้ไขได้ โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายว่าการทำงานทั้งหมดจะต้องเดินหน้าไปด้วยกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามกรอบแก้ปัญหาสำหรับการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ที่วางไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน