นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองโฆษกกระทรวง เปิดเผยถึงผลการประชุมพิจารณรายละเอียดการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วง บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 354 กิโลเมตร วงเงิน 65,738 ล้านบาท ว่า กระทรวงหารือร่วมกับเจ้าของโครงการคือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยที่ประชุมมีมติให้ รฟท. ไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม 3 ประเด็น 1. แนวเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางให้เวนคืนเท่าทีจำเป็นตามมาตรฐานคือประมาณ 80 เมตร 2. ปรับปรุงสมมุติฐานทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ปัจจุบันเป็นตัวเลขเก่าแล้ว

และ 3. การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตลอดแนวเส้นทาง โดยให้ผนวกเอาพื้นที่ว่างซึ่งเป็นของราชพัสดุ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ เข้ามาอยู่ในโครงการด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุม รวมทั้งต้องดูไม่ให้แนวเส้นทางขวางทางน้ำคือแม่น้ำชี เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ในแนวเส้นทาง ซึ่ง รฟท. ชี้แจงว่าออกแบบเป็นทางยกระดับอยู่แล้วในช่วงดังกล่าว โดย รฟท.จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม เสนอให้ที่ประชุมอีกครั้งในช่วงกลางเดือนก.ย. นี้

“โครงการนี้ เป็นการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ คาดว่าจะเสนอโครงการให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินได้ในเดือนต.ต. นี้ หลังจากนั้นเปิดประมูล เริ่มก่อสร้างปลายปี 2561 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 7 ปี เริ่มจากปี 2560-2566 เปิดให้บริการได้ในปี 2566”

รายงานข่าวแจ้งว่า รถไฟทางคู่เส้นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตอนบน มีเส้นทางผ่าน 6 จังหวัดภาคอีสาน คือ ขอนแก่น-มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม โดยจะมีทั้งหมด 32 สถานี มีลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง มีย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง มีถนนยกข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ 255 แห่ง พร้อมก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะเพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการให้บริการ

โดยประเมินไว้ว่า ในปี 2566 จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 12,365 คนต่อวัน และในปี 2596 จะเพิ่มขึ้นเป็น 26,931 คนต่อวัน คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 2.63% ต่อปี

ขณะเดียวกันในปี 2566 จะมีปริมาณการขนส่งสินค้า จำนวน 8.4 แสนตันต่อปี ในปี 2596 จะมี 1.60 ล้านตันต่อปี คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 2.16% ต่อปี โดยสินค้าดังกล่าวแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. สินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาล และยางพารา 2. สินค้าปูนซีเมนต์ผง และ 3. สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (อีไออาร์อาร์) อยู่ที่ 12.05%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน