นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 2/2560 ขยายตัว 3.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.3% และถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ส่วนจีดีพีใน 6 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ทั้งสิ้น 3.5% โดยมีปัจจัยบวกสาขาเกษตรกรรม ที่ขยายตัวสูงถึง 15.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวเพียง 5.7% จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ที่ขยายตัว 16.8% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตเกษตรสำคัญ

อาทิ ข้าวเปลือกนาปรัง ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ส่วนภาคการส่งออก ยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องสูงถึง 8% ตามนี้ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก อย่างประเทศจีน สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 5.1% และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 2.8% อาทิ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

นอกจากนี้ การลงทุนรวมขยายตัว 0.4% โดยมาจากการลงทุนภาคเอกชน ที่สามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ 3.2% หลังจากที่ติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ทั้งนี้เป็นผลมาจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว 3.2% ตามภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัว 3.1% ขณะที่การลงทุนภาครัฐ กลับมาติดลบอีกครั้ง 7% ตามการลงทุนของรัฐบาล ที่ติดลบ 18.2% สอดคล้องกับการลดลงของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน 17.7% และอัตราการเบิกจ่ายที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 14.3% เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 22%

โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า ที่ติดขัดในขั้นตอนของการดำเนินงานต่างๆ การจัดซื้อจัดจ้าง อย่างไรก็ตามการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมยังอยู่ในระยะแรกของการดำเนินการ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 20.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวเพียง 17%

ด้านการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ที่ขยายตัว 13.9% ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ขยายตัว 8.2% และดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ขยายตัว 6.5% ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.3 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัว 2.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวเพียง 0.3%

ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัว 7.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 5.3% โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 6.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% ประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 3.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ มาเลเซีย ลาว และจีน เป็นสำคัญ และรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 67.5% เพิ่มขึ้นจาก 66.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ถือว่าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสำคัญมาจากภาคการเกษตร และภาคการเกษตร ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การลงทุนภาคเอกชนยังสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ซึ่งปัจจัยสำคัญก็มาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นได้จากการที่บริษัทหลายแห่ง เริ่มมีการจ้างงานนอกเวลาเพิ่มขึ้น (โอที) อย่างไรก็ตามในส่วนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กลงมา ยังไม่พบการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากนัก ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสาน ก็ถือว่าเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อจีดีพีของไทยแต่อย่างใด”

นายปรเมธี กล่าวว่า จากตัวเลขจีดีพีที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 2/2560 ทำให้ สศช. ได้ปรับประมาณการณ์จีดีพีทั้งปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4% มีค่ากลางที่ 3.7% ซึ่งถือเป็นการปรับประมาณการที่สูงขึ้นจากครั้งก่อน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3.3-3.8% และมีค่ากลางที่ 3.5% โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจาก การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยเฉพาะประเทศจีน อียู และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง การขยายตัวเร่งขึ้นของสาขาการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการก่อสร้าง และ การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 5.7% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.2% การลงทุนรวมทั้งปี ขยายตัว 3.4% โดยภาคเอกชน น่าจะขยายตัวได้ 2.2% และภาครัฐ ขยายตัว 8% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.4-0.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.7% ของจีดีพี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน