น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรประจำเดือนก.ค. 2560 ราคาลดลง 15.62% จากช่วงเดียวกันปี 2559 จากราคาสินค้าที่เกษตรปรับตัวลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ลำไย สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ฉุดดัชนีรายได้ภาคเกษตรกรหด 2.64% จากปีก่อน จากดัชนีผลผลิตขยับเพิ่มขึ้น 15.38% ส่วนในช่วง 6 เดือนหลังปีนี้ ต้องจับตาสถานการณ์ผลผลิต ที่จะออกมาปลายปีทั้ง ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง หากอออกมามากอาจกดดันราคาทรงตัวใกล้เคียงช่วง 6 เดือนแรก

เมื่อจำแนกตามกลุ่มสินค้า กลุ่มธัญพืชและพืชอาหาร ดัชนีราคาลดลง 6.26% ในสินค้า มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ยืนต้น ดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 0.73% ในสินค้า ยางพารา กลุ่มไม้ผล ดัชนีราคาลดลง 44.93% ได้แก่ ลำไย มังคุด และเงาะโรงเรียน กลุ่มพืชน้ำมัน ดัชนีราคาลดลง 37.22% ในสินค้า ปาล์มน้ำมัน กลุ่มพืชไม้ดอก ดัชนีราคาลดลง 37.24% กลุ่มปศุสัตว์ดัชนีราคาลดลง 7.06% ในสินค้าสำคัญ คือ สุกร และไข่ไก่ กลุ่มประมง ดัชนีราคาลดลง 5.97%

ในเดือนส.ค.นี้ คาดว่าดัชนีราคาจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย มังคุด เงาะโรงเรียน สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม

ส่วนสถานการณ์ราคาจะขึ้นอยู่กับผลผลิตที่จะออกมาในช่วงปลายปี หรือตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป หากราคาสินค้าเกษตรลดลงจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น สศก. ไม่ได้กังวลว่าจะมีผลกระทบต่อจีดีพีภาคเกษตร เพราะในช่วง 6 เดือนสุดท้าย แม้ราคาสินค้าเกษตรจะลดลง แต่รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการดำเนินโครงการ 9101 ที่มีการนำเงินใส่ลงไปในภาคเกษตรกว่า 2 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายงบประมาณ ช่วยพื้นฟูราคาสินค้าเกษตรที่ปรับลดลงได้ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ส่งผลดีต่อจีดีพีภาคเกษตร 0.8-1%

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ภาครัฐจะมีงบบูรณาการลงสู่รากหญ้า โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้มีกองทุนต่างๆเข้ามาช่วยเหลือภาคเกษตร ซึ่ง 6 เดือนหลังปีนี้ เกษตรกรน่าจะมีรายได้ดีขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน