นายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวได้รับความเสียหายจำนวนมากกว่าล้านไร่ คาดว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวเหนียวหายไป กว่า 20% ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาข้าวเหนียวราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาข้าวเหนียวจะมีแนวโน้มสูงขึ้นแต่เกษตรกรอาจไม่ได้รับประโยชน์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นเพราะไม่มีผลผลิตข้าวออกมาขาย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวนาที่ได้รับผลกระทบและได้ทำประกันความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน เพื่อจะได้นำเงินไปปลูกข้าวรอบใหม่หรือปลูกพืชชนิดอื่นๆ ชดเชยต่อไป

ด้านนางเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์การรับซื้อผลผลิตข้าวของโรงสี ขณะนี้ยังถือว่าปกติแต่ไม่คึกคักมากนัก เพราะผลผลิตข้าวในภาคอีสานและเหนือยังไม่ออกมา โดยส่วนใหญ่ผลผลิตที่ออกมาจะเป็นผลผลิตในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ชัยนาท สุพรรณบุรี พิจิตร กำแพงเพชร เป็นต้น

สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ความชื้น 15% ราคา 7,600-8,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมความชื้น 15% ราคา 9,600-9,800 บาทต่อตัน ซึ่งถือว่าปีนี้ราคาดีกว่าปีที่ผ่านๆ มา เพราะเคยตกต่ำถึง 7,200-7,500 บาทต่อตันเท่านั้น ในปีนี้ถือว่าราคาเป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ผู้ส่งออกมีการรับซื้อข้าวจากโรงสีเพื่อนำไปส่งออกในรูปแบบของข้าวสารอย่างต่อเนื่อง

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลผลิตข้าวเหนียวคาดว่าจะออกมาในช่วงเดือนต.ค.และในเดือนม.ค. แม้ว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแต่ยังเชื่อว่ายังมีพื้นที่ดอนที่ผลผลิตจะยังออกมาดี ส่วนพื้นที่ถูกน้ำท่วมต้องดูว่าเป็นการจมน้ำแบบขังยาวนานหรือแค่ท่วมแบบไหลผ่าน ทั้งนี้ ภาครัฐต้องเร่งสำรวจและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนต่อไปทั้งเม็ดเงินและพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ เพื่อให้ชาวนาสามารถหว่านซ่อมและเก็บเกี่ยวได้ทันในช่วงต้นฤดู สำหรับราคาข้าวเปลือกเหนียวความชื้น 27-28% ราคารับซื้ออยู่ที่ 7,000 บาทต่อตัน

“ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการหว่านซ่อมของชาวนาหลังน้ำลดในข้าวทุกประเภทว่าจะสามารถหว่านได้ในช่วงไหน เพราะจะมีผลต่อคุณภาพข้าวที่จะออกมาในฤดูกาลหน้าทั้งข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาและคุณภาพของข้าว แม้ว่าผลผลิตจะออกมาน้อยแต่หากคุณภาพไม่ดีราคาซื้อขายก็จะไม่ดีตามไปด้วย” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นพบว่าสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดช้ากว่าปกติ กระทบในภาพรวมของการลงทุนปลูกข้าวใหม่ แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นผลกระทบต่อภาพรวมตลาดข้าว เนื่องจากเกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้ใหม่ อาจเก็บเกี่ยวช้าออกไปบ้างเท่านั้น

“หากไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นซ้ำอีก สถานการณ์ข้าวไทยในปีนี้ สมาคมยังเชื่อว่าจะสามารถผลักดันการส่งออกได้ตามเป้าหมาย 10 ล้านตัน”

ในส่วนของปัจจัยลบที่ต้องจับตามองปีนี้ ยังคงเป็นภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นส่วนสำคัญที่กระทบต่อการแข่งขันในตลาดโลก แม้ว่าราคาข้าวในประเทศจะไม่ปรับตัวสูงอย่างเห็นได้ชัด แต่ราคาส่งออก F.O.B. ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน พบว่าราคาส่งออกข้าวไทยยังสูงกว่า เช่น ราคาข้าวขาว 5% ของไทยเฉลี่ยขายอยู่ที่ตันละ 390 ดอลลาร์ ขณะที่ปากีสถาน ส่งออกอยู่ราว 340 ดอลลาร์ ทำให้การแข่งขันด้านราคาค่อนข้างรุนแรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน