นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รวบรวมข้อเสนอแนะจากผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคเอกชนอีสาน ที่หารือร่วมกันนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นำเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณา ขณะที่ สศช. นำเสนอแผนการพัฒนาภาคอีสานเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ด้วย เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอีสาน เนื่องปัจจุบันภาคอีสานมีประชากร 1 ใน 3 ของประเทศ แต่มีจีดีพี คิดเป็น 1 ใน 10 ของประเทศเท่านั้น เพราะมีปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ คนยากจน

สำหรับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอีสาน ที่ สศช. นำเสนอแบ่งออกเป็น 5 ด้านที่สำคัญ 1. การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การจัดการแหล่งน้ำเก่า และใหม่ 2. การแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนมีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะเร่งพัฒนาความรู้ในสายอาชีพ การเพิ่มรายได้ และจัดสวัสดิการให้คนอีสาน 3. การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจอีสาน และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ การเลี้ยงโคเนื้อและโคนม การพัฒนาเอสเอ็มอีท้องถิ่น การพัฒนาการเกษตรแปรรูป

รวมไปถึงการพัฒนาการด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากอีสานเป็นพื้นที่ท่องที่ยวสำคัญของไทย ซึ่งสถานีโทรทัศน์ระดับโลกอย่าง ซีเอ็นเอ็น ยกย่องภาคอีสานเป็น 1 ใน 10 และ 4. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงภาคกลางและเชื่อมโยงกับเออีซี เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช รถไฟทางคู่ กทม-ขอนแก่น เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอีสานให้มีมาตรฐาน และ 5. การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนวชายแดน การพัฒนาด่านชายแดน และเขตเศรษฐกิจชายแดน

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ของ สศช. สอดรับกับข้อเสนอที่ภาคเอกชนและผู้ว่าฯนครราชสีมา นำเสนอกับนายกฯ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. โดย นายกฯ มีข้อสั่งการในครม. ให้ไปศึกษาแนวทางการบริการจัดการลำน้ำ โขง ชี มูล โดยให้เร่งรัดการดำเนินโครงการดังกล่าวให้เร็วขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าจะใช้เวลาดำเนินการ 8 ปี

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติ ให้เร่งรัดแก้ปัญหาอ่างเก็บน้ำวังสะพุง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์พันธ์สัตว์ภูเขียว โดยขอให้มีการขยับการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้ต่ำลงมา เพื่อไม่ให้กระทบกับสัตว์

นอกจากนี้ นายกฯ ยังย้ำเรื่องการจัดทำแก้มลิง และการใช้น้ำนอกเขตชลประทาน โดยเห็นชอบข้อเสนอเรื่องการจัดทำแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเป็นลักษณะแบบหลุมขนมครก โดยพื้นที่ขอสนับสนุนเรื่องเครื่องจักรที่ใช้ในการดำเนินการ ซึ่งนายกฯ สั่งการให้ไปดูว่าช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง รวมไปถึงการสนับสนุนการใช้โซลาร์เซลในการสูบน้ำ เพื่อลดภาระค่ากระแสไฟฟ้า

และยังเร่งรัดให้ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ล้างหนี้ หรือธนาคารต้นไม้ไปดูหลักเกณฑ์ว่าจะให้แรงจูงใจทางภาษีได้อย่างไรสำหรับการปลูกต้นไม้ แต่ขอให้เป็นการปลูกต้นไม้ยืนต้นเท่านั้น โดยจะต้องปลูกเป็นกลุ่มมีพื้นที่สีเขียว และต้องไปกำหนดพื้นที่ปลูกให้มีความเหมาะสมด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน