นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมกล่าวในการแสดงปาฐกถาหัวข้อ “การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอกชียตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโดจีน” ในงานสัมมนา Indochina Aviation Conference 2017 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ว่า ไทยเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวในแถบประเทศซีแอลเอ็มวี โดยช่วง 3-4 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงเกินขีดความสามารถในการรับรองของสนามบิน ทำให้เกิดปัญหาแออัด จึงต้องเร่งขยายอาคารผู้โดยสาร และรันเวย์แลเร่งสร้างสนามบินใหม่ ซึ่งเป็นไปตาม 8 ปีของกระทรวงคมนาคม วงเงินหลายหมื่นล้านบาท

เบื้องต้นอาจจะเปิดให้เอกชน หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้ามาร่วมลงทุน และบริหารจัดการสนามบินด้วย โดยอาจจะนำร่อง 1-2 สนามบินก่อน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลใช้เงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะสร้างสนามบินใหม่ 2 ก่อน เพื่อแก้ปัญหาคามแออัดที่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่

โดยมีแนวโน้มว่าจะสร้างเพิ่มที่ จ.พังงา และอีกแห่งบริเวณใกล้เคียงจังหวัดกับเชียงใหม่ โดยจะต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะได้สะดวกด้วย เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา ที่ จ.ภูเก็ต จะเชื่อมมายัง จ.พังงา ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร

นายอาคม กล่าวว่า สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนางานบริการเพื่อรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4 ด้าน ได้แก่ 1. การลงทุนเทคโนโลยีเพื่อลดความแออัดภายในสนามบิน 2. การติดตั้งระบบเช็กอินอัตโนมัติ (self check-in) รวมถึงระบบประตูผู้โดยสาร (auto gate) 3. เพิ่มการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ Air Space โดยได้มอบให้วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ศึกษาแนวทางร่วมกับกองทัพอากาศ และ 4. เพิ่มระบบจัดเก็บข้อมูลผู้โดยสารเพื่อความมั่นคงของประเทศ

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า ขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนโครงการสนามบินรองดังกล่าว 2 แห่ง คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะส่งข้อสรุป เสนอให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว. คมนาคมพิจารณา ได้ในเดือนต.ค.นี้ ก่อนจะทำการศึกษารายละเอียดและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ต่อไป

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศของผู้โดยสารกลุ่มประเทศอินโดจีนผ่านท่าอากาศยาน 6 แห่งของ มีจำนวน 9.80 ล้านคน คิดเป็น 24.1% ของผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวน 40.66 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ถึง 11.4%

ดังนั้น ทอท. มีแผนจะพัฒนาให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นเกตเวย์ส่งออกสินค้ากลุ่มซีแอลเอ็มวีออกไปสู่ยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาได้เจรจากับเยอรมันในการเป็นจุดหมายปลายทางของสินค้า โดยจะใช้สนามบินมิวนิคเป็นสนามบินหลักรองรับปริมาณสินค้า คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มได้ภายในปี 2561 โดยในช่วงแรกจะเน้นขนส่งสินค้าด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน