นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 4/2560 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564 หรือแผนยุทธศาสตร์ PPP ซึ่งนำหลักการสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการจัดแผนยุทธศาสตร์ PPP โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนรวม 1.62 ล้านล้านบาท สำหรับ 55 โครงการลงทุน

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ PPP ประกอบด้วยกิจการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ 22 กิจการ แบ่งเป็น กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt – out) จำนวน 4 กิจการ ได้แก่ กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมืองกิจการพัฒนาท่าเรือสาธารณะสำหรับขนส่งสินค้าและกิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง และกิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt – in) จำนวน 18 กิจการ เช่น กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข และกิจการพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน

“ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ วงเงินลงทุน 1.62 ล้านล้านบาท หลักๆ จะเป็นโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคม จำนวน 94% อาทิ โครงการท่าเรือสาธารณะ โครงการขนส่งทางรางภายในประเทศ โครงการลงทุนถนน รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น รวมถึงจะมีโครงการด้านสาธารณะสุขและการศึกษารวมอยู่ด้วยโดยประเมินว่าในปี 2563-2564 จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบประมาณ 40% โดยแผนยุทธศาสตร์นี้วัตถุประสงค์หลักไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมากกว่า เพราะปัจจุบันไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงถึง 13-14% ของจีดีพี ซึ่งเป็นปัญหาในการแข่งขันของประเทศอยู่พอสมควร”นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าในการประเมินทางเลือกการลงทุน (Value for Money) ซึ่งได้มีการเทียบเคียงแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการประเมินทางเลือกการลงทุนระหว่างการดำเนินการเองหรือให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งจะได้พิจารณาถึงต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าโดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน รวมทั้งได้รับทราบความคืบหน้าโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track จำนวน 11 โครงการมูลค่าวงเงินลงทุนรวม 9.34 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของการทบทวนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอ ครม. พิจารณาได้ภายในเดือนก.ย. 2560

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน