นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภาหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) โครงการทบทวนเพื่อศึกษาเพิ่มเติม ผลการศึกษาความเหมาะสมด้านธุรกิจและการลงทุน โครงการพัฒนาบริเวณพื้นที่ย่านมักกะสันตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) พ.ศ.2556 ว่า ที่ดินมักกะสัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็น 1 ใน 4 แปลงใหญ่ที่อยู่ใจกลางเมือง หากมีการพัฒนาตามเป้าหมายจะพลิกโฉมหน้าให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีความทันสมัย และเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ในระดับประเทศและอาเซียน เ

พราะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟทางคู่ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่จะปฏิรูป รฟท. ให้เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง จากการนำทัรพย์สินที่ รฟท. มีอยู่กว่า 3 แสนล้านบาท ออกมาพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

โดยขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินคาดว่าจะเสนอเรื่องให้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาในเดือนก.ย. และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือนต.ค. นี้

นอกจากนี้ จะเสนอขอครม. ให้ยกเว้นระเบียบปฏิบัติ 2 เรื่อง เพื่อให้การทำหน้าที่บริหารงานมีความคล่องตัวเมือนกับ ปตท. หรือการบินไทย โดยจะขอ 1. ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบการจ้างบุคลากร ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฯ เพื่อเปิดทางให้สามารถจ้างผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาเสริมการบริหารงาน และ 2. ขอให้รฟท. สามารถระดมทุนในโครงการต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เช่น ออกตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) รูปแบบต่างๆ เป็นต้น

“รฟท. กำลังเร่งตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่าโดยปี 2561 จะเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ประมาณ 2 แปลง เริ่มสถานีกลางบางซื่อ แปลง A ก่อนจากนั้นจะเป็นพื้นที่พื้นที่มักกะสัน แต่สำหรับมักกะสัน ตอนนี้ยังระบุไม่ได้ว่าจะเปิดประมูลพื้นที่มักกะสันแปลงใด รูปแบบใด เพราะการพัฒนาพื้นที่มักกะสันเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นและสามารถปรับเปลี่ยนได้อีก”นายพิชิตกล่าว

นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริการศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ว่าจ้างนิด้าเป็นที่ปรึกษาเพื่อทบทวนโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสันโดยการการศึกษาใหม่ยังอ้างอิงผลการศึกษาเดิมบางส่วน โดยแบ่งพื้นที่ขนาด508.92 ไร่ออกเป็น 4 โซนเท่าเดิม แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ของรัฐบาล

สำหรับผลการศึกษาใหม่เบื้องต้นมีการจัดแบ่งออกเป็น 4 โซน คือ โซน A ขนาด 139.82 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกับสถานีมักกะสัน จะพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจการค้า ประกอบด้วย สถานีรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน โรงแรม ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์ประชุม-สัมมนา ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า อาคารที่จอดรถ, โซน B ขนาด 179.02 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่โรงงานซ่อมบำรุงเก่า จะพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจสำนักงาน ประกอบด้วยมักกะสันทาวเวอร์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ อาคารสำนักงาน อุตสาหกรรมของรัฐ ธนาคาร โรงแรม

โซน C ขนาด 151.40 ไร่ ซึ่งเป็นบ้านพักพนักงานและโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร จะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยและสาธารณะสุข ประกอบด้วยโรงพยาบาลระดับนานาชาติ โรงเรียนนานาชาติ เวิลด์คิทเช่นมาร์ท ศูนย์แสดงสินค้า เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ และโซน D ขนาด 38.68 ไร่ ซึ่งเป็นอาคารเก่าโบราณ จะพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์การรถไฟ ที่ทำการส่วนราชการ โรงแรม

“คาดว่า เฟสแรกจะเปิดประมูลพื้นที่โซน A และโซน C บางส่วน ก่อนเนื่องจากเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จากนั้นจะทยอยเปิดประมูลแปลงอื่นๆ ตามมา ขณะเดียวกันจะขอให้นักลงทุนพัฒนาพื้นที่แปลง B และ C บางส่วนเป็นพื้นที่สีเขียวด้วย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน