นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS (บริกส์) กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฟูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 4-5 ก.ย.นั้นไทยถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกที่ได้รับเชิญจากประเทศเจ้าภาพ ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจและความร่วมมือกับจีนโดยนายกรัฐมนตรีได้มีการชี้แจงกับประธานาธิบดีของจีนว่าไทยกับจีนจะมีความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ

ทั้งนี้ การที่นายกฯ ของไทยเข้าร่วมการประชุมบริกส์ ในครั้งนี้สะท้อนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีน และถือเป็นข้อตกลงระหว่างสองประเทศ โดยทางการจีนต้องการให้นายกฯ ของไทยไปเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ และได้เชิญมาตั้งแต่ต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้นายกฯ จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ One belt one road Summit ในช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่การที่นายกฯ ของไทยไปเข้าร่วมการประชุมบริกส์ ในครั้งนี้และประเทศไทย มีการลงนามในความร่วมมือกับรัฐบาล 4 ฉบับโดยมีการลงนามในเรื่องของความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมโยงไทยกับเส้นทาง One belt one road ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญของไทยที่จะมีส่วนร่วมในโครงการนี้

“ความร่วมมือในเรื่องเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีการลงนามในครั้งนี้ในถือว่าเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ และคาดว่าหลังจากนี้การออกแบบจะแล้วเสร็จใน 10 เดือน แล้วจะเริ่มก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นโครงการรถไฟที่จะเชื่อมโยงกับเส้นทางตอนใต้ของจีนและเส้นทาง One belt one road ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับไทยในอนาคต”

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ เป็นสักขีพยานในการลงนามร่วมกับรัฐบาลจีนจำนวน 4 ฉบับประกอบไปด้วย 1. สัญญาการออกแบบโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะที่ 1

2. สัญญาที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสารธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะที่ 1

3. ร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน (พ.ศ. 2560-2564) และ 4.ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการกระชับความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่รอบด้านกับจีน รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือที่มีอยู่ให้คืบหน้าและเป็นรูปธรรม ตลอดจนขยาย ความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น

ผู้นำไทยและจีนยังเห็นพ้อง การป้องกันและแก้ไขประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ต้องอาศัย ความร่วมมือจากทุกประเทศ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อสันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ไทยและจีนมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข่าวสาร และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการกับการก่อการร้าย ระหว่างกัน รวมทั้งนายกฯ ขอให้จีนช่วยดูแลนักลงทุนไทยและการลงทุนจากไทยด้านพลังงาน รวมทั้งการถ่ายทอด เทคโนโลยีที่จีนมีความเชี่ยวชาญ เช่น การบิน เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน