นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ภายใต้การเชื่อมนโยบาย Thailand 4.0 towards Connected Connected Industries” เพื่อสร้างโอกาสความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่นในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 130 ปี โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายเข้าร่วมงาน ว่า เร็วๆ นี้ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จะประกาศอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่าไทยจะได้รับการปรับอันดับที่ดีขึ้น 4 ด้าน สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ

ประกอบกับภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคเอเชียใต้ไม่มีใครปฏิเสธว่าไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ทำให้ไทยกลายเป็นที่ตั้งยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (วันเบลท์วันโรด : One Belt One Road) ของจีนเป็นศูนย์กลางให้ทุกเส้นทางต้องผ่านไทย

“หากญี่ปุ่นยอมเชื่อผมสักนิด มาร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์-เวสต์ อิโคโนมิก คอร์ริดอร์ ให้เวียดนามเชื่อมลาวผ่านไทย พม่าและเชื่อมประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ไปยังประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งมั่นใจว่าไทยมีจุดแข็งมากพอที่จะดึงดูดนักลงทุน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ทำให้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าเป็นเวลาของภูมิภาคเอเชียจะขึ้นมาเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน ซึ่ง ญี่ปุ่นกับไทยต้องร่วมกันพัฒนา หากทำให้ประเทศเพื่อนบ้านโตเท่าใด ไทยเราก็จะยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้นเท่านั้น และเราไม่ได้บอกว่าเราดีกว่าประเทศอื่น แต่เรามีสิ่งที่ประเทศอื่นไม่มี อย่างโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น“

ทั้งนี้ ปัจจุบันอีอีซีไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่มีบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วกว่า 8,000 บริษัท และมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ไทยจึงกำลังเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี และเร่งแก้ไขปรับปรุงจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรครองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่จะมีเข้ามามากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยไม่ให้แพ้ชาติชาติใดในโลกภายในไม่ช้า

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การร่วมมือกับญี่ปุ่นครั้งนี้จะมุ่งเน้น 3 เรื่องได้แก่ 1.การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 2.ความร่วมมือการพัฒนาเอสเอ็มอี และ 3.ร่วมพัฒนาอีอีซี ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่เป็นโรดแมพในการพัฒนาประเทศไทยระยะ 20 ปี

โดยอีอีซีถือเป็นโครงการสำคัญที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมาก โดยพื้นที่มีการพัฒนารองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ระบบดิจิทัล ฯลฯ โดยเฟสแรก 5 ปี คาดมีเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นการลงทุนเอกชน 80% ที่เหลือรัฐลงทุน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมสร้างเมืองต้นแบบเพื่อการพัฒนาในพื้นที่อื่นทั้งภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน ภาคอีสาน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน