นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 9 ต.ค.นี้ จะนำโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 9,805 ล้านบาท เข้าหารือคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อปรับปรุงเกณฑ์ และคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ หลังเปิดรับสมัคร 2 ครั้ง มีเกษตรกรเข้าร่วม 33,500 ราย จากเป้าหมาย 64,144 ราย

สำหรับผลการรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ รอบที่ 1 เกษตรกร 20,357 คน ผู้จ้างงาน 25,137 คน และรอบที่ 2 เกษตรกร 13,143 คน ผู้จ้างงาน 6,477 คน ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ กระทรวงเกษตรฯ จึงเตรียมนำรายละเอียดโครงการฯเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ปรับเกณฑ์การรับสมัครและคุณสมบัติของเกษตรกร

คณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีมติออกมาเป็นแนวทางไหน คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะนำรายละเอียดและหลักเกณฑ์การปรับปรุงใหม่ เข้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งที่ 3 ต่อไป เพราะตามกำหนดภายในเดือนต.ค.นี้ จะต้องเริ่มจัดซื้อจัดจ้าง เงินต้องกระจายสู่ชุมชนผ่านโครงการฯ ให้เร็วที่สุด เพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19

หลักเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง มี 3-4 ข้อ อาทิ เงื่อนไขการเข้าร่วม รัฐบาลจะขอพื้นที่ที่รัฐบาลสนับสนุน เข้าร่วมโครงการฯเป็นศูนย์ขยายผล จากเดิมกำหนดไว้ 7 ปี เกษตรกรจำนวนมาก ระบุว่า 7 ปีนานไป อยากให้ปรับเกณฑ์การเป็นศูนย์ขยายผลให้เหลือ 5 ปี เป็นต้น หากปรับหลักเกณฑ์การรับสมัครและคุณสมบัติของเกษตรกรได้ เชื่อว่าจะมีเกษตรกรสนใจมากขึ้น

ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เพิ่งเข้าประชุมเป็นนัดแรกหลังรับตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับในหลายเรื่อง อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง ที่ควรจะให้มีการจัดซื้อจัดจ้างแบบกระจาย ให้ผู้รับจ้างหลากหลาย ผู้รับจ้างรายย่อย อย่ามัดรวมโครงการจัดจ้างรายใหญ่เพียงรายเดียว เพื่อให้เงินกระจายสู่ชุมชนมากที่สุดตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล

ทั้งนี้ เพื่อให้มีกระจายเงินเข้าสู่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการจ้างงาน ดังนั้นทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการกระจายเงินเข้าสู่ระบบ มีการจ้างงานในท้องถิ่น เพื่อรองรับคนที่ตกงานจากโควิด-19 โดยรัฐบาลตั้งเป้าการจ้างงานไว้ที่ 3.2 หมื่นราย โครงการนี้เป็นโครงการบูรณาการต้องร่วมกันทำงาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ฐานราก

นายทองเปลว กล่าวต่อว่า โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากจะช่วยฟื้นฟู เศรษฐกิจในระยะสั้น ยังบรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

สำหรับการเริ่มรับสมัครในรอบที่ 3 จะดำเนินการเปิดรับสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 8-22 ต.ค. 2563 สำหรับเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ http://ntag.moac.go.th ยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในการรับสมัครเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการครั้งที่ 3 จะนำรายชื่อเดิมที่สมัครไว้ในรอบที่ 1 และ 2 ที่มีจำนวน 33,500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้คิดว่าจะผ่านเกณฑ์การพิจารณาเพียงประมาณ 23,000 ราย หรือ ไม่ผ่านเกณฑ์ประมาณ 30% หากปรับปรุงหลักเกณฑ์แล้ว เชื่อว่ากลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ประมาณ 10,000 ราย จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน