พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพารา ประจำปี 2560 ภายใต้สภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) มี นาย มะ ซีอีว เขี่ยว (MR. MAH SIEW KEONG) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ ประเทศมาเลเซีย และ นายแองการ์ตีอาสโต้ ลูกีตา รัฐมนตรีกระทรวงการค้า ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ทั้ง ไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย มีผลผลิตมากกว่า 60% ของผลผลิตทั่วโลก โดยปี 2559-2560 อุตสาหกรรมยางธรรมชาติยังคงผันผวนจากเศรษฐกิจโลก ปริมาณผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยหันไปประกอบอาชีพเกษตรอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

“การประชุมครั้งนี้เกิดความชัดเจนขึ้น ที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีแนวทางการทำงานเดียวกัน หากมีปัญหาราคายางพาราผิดปกติจนเกินไป หลังจากนี้ทั้ง 3 ประเทศจะสามารถหารือเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที สามารถยกหูโทรศัพท์คุยกันได้เลย โดยไม่ต้องรอเวทีการประชุมระดับรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพาราที่จัดขึ้นปีละครั้ง ยืนยันว่าหลังจากนี้จะมีการแก้ปัญหายางอย่างใกล้ชิดและดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทั้ง 3 ประเทศ ตั้งใจจะร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง พยายามผลักดันงานที่วางร่วมกันให้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นงานระยะยาว”

ทั้งนี้ จากการหารือ ได้ข้อสรุปร่วมกัน 6 เรื่องคือ 1. ร่วมเปิดตลาดยางพาราระดับภูมิภาคเป็นลักษณะการซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้สนใจได้เข้ามาซื้อขายผลผลิตจากสถาบันเกษตรกรโดยตรงมากยิ่งขึ้น 2. ส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นปีละ 10% โดยการส่งเสริมการแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค มีข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการใช้ยางธรรมชาติของแต่ละประเทศสำหรับก่อสร้างถนนและการปูผิวถนนใหม่ 3. การจัดตั้งตลาดยางพาราระดับภูมิภาค (ITRC Regional Rubber Market: RRM) ปัจจุบันอยู่ในลักษณะตลาดรูปแบบ spot trading เป็นตลาดซื้อขายจริงและส่งมอบจริง

4. การลดปริมาณผลผลิตและพื้นที่ปลูก เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการใช้และปริมาณผลผลิต 5.มาตรการจำกัดปริมาณการส่งออกยาง (Agreed Export Tonnage Scheme :AETS) หากราคายางปรับตัวลดลงจนน่าเป็นห่วง อาจจำเป็นจะต้องนำมาตรการนี้มาใช้ 6.รับเวียดนามเข้าสู่สมาชิกสมทบ ITRC

ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายแองการ์ตีอาสโต้ ลูกีตา รัฐมนตรีกระทรวงการค้า ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ที่ผ่านมาในฐานะอินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ แต่ไม่มีความจริงใจในการร่วมมือในมาตรการที่จะช่วยพยุงราคายางไม่ให้ตกต่ำ และไม่จริงใจในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศสมาชิกอื่นเลย นายแองการ์ตีอาสโต้ ลูกีตา กล่าวตอบว่า สื่อมวลชนไปได้ยินมาจากไหน ว่า อินโดนีเซียไม่ทำตามข้อตกลงในฐานะประเทศสมาชิกผู้ผลิตยาง อนโดนีเซียให้คำมั่นและทำตามข้อตกลงตลอดมา

“ในครั้งนี้ทั้ง 3 ประเทศได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกัน และมีเวียดนามจะเข้ามาร่วมมือในการพัฒนายางพาราด้วยไม่ต้องเป็นห่วงจากนี้เราจะร่วมมือกันมากขึ้น เราตกลงกันว่าเราจะมีประชุมกันได้ทุกเมื่อ โดยไม่จำเป็นต้องรอการประชุมประจำปีที่ผ่านมาอินดดนีเซียก็ให้ความร่วมมือในการควบคุมผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ ตามมติที่ตกลงกันไว้ในที่ประชุมครั้งก่อนหน้า”รมว.การค้า อินโดนีเซีย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน