นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยผลการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนในปี 2560 ว่า สมอ. ได้แก้ไขปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) แล้วเสร็จจำนวน 59 เรื่อง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย สมอ. กำหนดไว้ที่จำนวน 48 เรื่อง ในจำนวนนี้มีมาตรฐานใหม่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปรับกลิ่นอากาศ และผลิตภัณฑ์กะลาปาล์ม

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว กระดาษเส้นใยพืช น้ำอบ น้ำปรุง รวมถึงเครื่องหอมภูมิปัญญาไทยอย่างบุหงารำไปด้วย

“จากการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับการนำไปใช้มากขึ้น ทำให้มีผู้มาขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการรับรอง มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจมูลค่ายอดขายของโครงการ มผช. ตั้งแต่ปี 2555-2559 พบว่าผู้ได้รับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ มผช. มียอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 60.78%”

ปัจจุบัน สมอ. ได้ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ไปแล้ว 1,338 เรื่อง แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหาร 450 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก 498 เรื่อง เครื่องดื่ม 202 เรื่อง ผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย 97 เรื่อง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 91 เรื่อง หลังจากที่ สมอ. ได้ดำเนินการถ่ายโอนงานรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้หน่วยรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับจังหวัดทั่วประเทศรวม 76 จังหวัดเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา สมอ. ประเมินสรุปผลการดำเนินการและให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชนในเขต กทม. และทั่วประเทศ พบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจำนวน 3,534 ผลิตภัณฑ์ และมีการตรวจติดตามผลเพื่อให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้อย่างสม่ำเสมอ จำนวน 1,600 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาผู้ผลิตชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และส่งเสริมให้ความรู้เพื่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อีก 2,834 ราย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2560

สำหรับภารกิจการเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่หน่วยรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับจังหวัด สมอ. ได้ดำเนินการติดตาม ประเมินผล และเสริมสร้างศักยภาพในการตรวจสอบ รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้วเสร็จทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้กระบวนการรับรองสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ตั้งแต่การรับคำขอ การตรวจสถานที่ทำ การเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งหน่วยตรวจสอบ การประเมินผลการตรวจสอบสถานที่ทำ และผลิตภัณฑ์ตามที่ มผช. กำหนด ตลอดจนการออกใบรับรอง มผช. ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ยังเดินหน้ายกระดับสินค้าโอท็อปด้วยการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ตาม มผช. เพื่อให้สินค้าโอท็อปเป็นที่ยอมรับและเพิ่มความเชื่อถือแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน