นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในโอกาสลงพื้นที่ดูสถานประกอบการและหารือแนวทางพัฒนาพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชน ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ ว่า กระทรวงมีนโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศยังขาดโดยเฉพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความต้องการสูง

กระทรวงเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อออกแบบหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพเฉพาะทาง รวมทั้งหารือกับภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติให้ได้ 1,200 คนภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 200 คน รวมถึงอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

“หากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีศักยภาพสามารถผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ก็จะช่วยลดการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศได้”

นอกจากนี้ มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมอุตสากรรม (กสอ.) จัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (อินดัสทรี ทรานสฟอร์เมชั่น เซ็นเตอร์:Industry Transformation Center หรือไอทีซี) เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเอสเอ็มอีไปต่อยอดนวัตกรรมเทคโนโลยีสู่อนาคต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่อุสาหกรรม 4.0 เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์แต่มีปัญหาเรื่องเงินทุนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์

นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงยังเร่งดำเนินนโยบายผลักดันการต่อยอดสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในแง่มูลค่าสินค้าให้มากขึ้น โดยใช้จุดแข็งที่ไทยมีสมุนไพรกว่า 5,000 ชนิด แปรรูปเป็นอาหาร และสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งกระทรวงมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมการค้า การลงทุน สู่อุตสาหกรรมอาหารอนาคต ตั้งเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการพื้นที่ภาคกลางไม่น้อยกว่า 30 รายในปี 2561

โดยขณะนี้กระทรวงอยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เบื้องต้นอาจแยกยุทธศาสตร์อาหารออกจากเกษตรแปรรูป เป็น 2 ยุทธศาสตร์ ควบคู่กับการพิจารณาแนวทางตั้งเขตส่งเสริมพิเศษ หรืออาจเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคอีสาน 1 แห่ง และภาคเหนือ 1 แห่ง ให้แต่ละภาคมีศูนย์ย่อยกระจายไปในพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมในพื้นที่นั้นๆ

ทั้งนี้ ภายหลังหารือกับภาคเอกชนในพื้นที่ภาคกลางเพื่อยกระดับฐานข้อมูลเอสเอ็มอี (แพลตฟอร์ม) เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการรายเล็กในรูปแบบคล้ายกับแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเอสเอ็มอีของญี่ปุ่น (เจกู๊ดเทค) โดยจะดึงข้อมูลบริษัทที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมก่อน เพื่อให้เอสเอ็มอีด้วยกันเข้าถึงข้อมูลของคู่ค้า ประกอบกับจะมีการเปิดพื้นที่ตลาดนัดอุตสาหกรรมคู่ขนานนำร่องก่อนขยายการจัดกิจกรรมตลาดนัดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมรายภาค คาดจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการครั้งแรกภายในปีนี้ เพื่อให้เอสเอ็มอีในพื้นที่ใกล้เคียงมีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่คอยให้คำแนะนำเรื่องเทคโนโลยีให้กับเอสเอ็มอีทำให้เกิดการค้าการลงทุนคล้ายจับคู่ธุรกิจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน