นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมุมมองของหอการค้าไทยกับการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ภาคเอกชนไทยตื่นตัวกับโครงการดังล่าว เป็นอย่างมาก เพราะเป็นโครงการในอนาคตที่จะช่วยพัฒนาให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทยประเมินว่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอีอีซี ของภาครัฐจะเฉลี่ยอยู่ที่ 300,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเมื่อรวมกับการลงทุนต่างๆ จากภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้นตามแล้ว จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1-1.5% ต่อปี แต่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเรื่องคน หรือ แรงงานที่มีทักษะสำหรับอุตสาหกรรม และบริการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามขยายตัวของการลงทุน รวมถึงการทำงานเชิงบูรณาการกับภาครัฐในท้องถิ่น

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะจัดทีม ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และคณะกรรมการ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน นำประเด็นต่างๆ เข้าหารือกับทางทีมอีอีซีโดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการในอีอีซี

ขณะที่นักลงทุนไทย ควรมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมลงทุนในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ จากการลงทุนของภาครัฐในครั้งนี้ เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้เชิญชวนนักลงทุนจากประเทศอื่นเข้ามาลงทุนในอีอีซีเพิ่มเติม และจากการส่งเสริมและเชิญชวนการลงทุนของรัฐบาล ทำให้ขณะนี้เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติที่เชื่อมั่น และประกาศแผนการลงทุนในอีอีซีบ้างแล้ว เช่น อาลีบาบา แอร์บัส และโบอิ้ง

ขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติที่มีการลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 และมีการลงทุนโดยตรงในครึ่งปีแรกของปีนี้ไปแล้วกว่า 47,300 ล้านบาท ก็ให้ความสนใจกับการลงทุนในอีอีซีด้วยเช่นกัน หลังจากที่คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยมีการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คู่ ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสนใจผู้ประกอบการไทยที่เป็นโรงงานผู้ผลิต มีการเชื่อมห่วงโซ่อุปทาน และลงทุนร่วมกันต่อไป ก่อนที่จะขยายตลาดต่อยอดจากไทยไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย

ด้านนายโซจิ ซาคาอิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนในอีอีซี โดยจากการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพมากกว่า 40% ของบริษัทสมาชิกแสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุน แต่ยังไม่สามารถตัดสินใจลงทุนได้ทันที หากในอนาคตอีอีซี มีแผนงานโครงการที่เป็นรูปธรรม และชัดเจน เช่น การพัฒนารถไฟความเร็วสูง โดยอยากให้ภาครัฐเร่งจัดการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จตามกำหนด รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะ และจำนวนเพียงพอต่อการรองรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาพัฒนาในอนาคต ตลอดจนมีสถานที่ทดสอบสำหรับเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นสนใจที่จะลงทุนด้วย

และอยากให้ภาครัฐปรับปรุงกฎการร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือ พีพีพี ด้วยการช่วยแบ่งปันความเสี่ยงที่เหมาะสมระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพราะโครงการที่จะลงทุนมีมูลค่ามหาศาล รัฐควรจะมีการรับประกันความเสี่ยงจากการลงทุนของนักลงทุนด้วย เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง หากญี่ปุ่นเข้าร่วมพัฒนา จะรับประกัน หรือ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่จะมีผู้มาใช้บริการ และสร้างรายได้ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงมีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของไทย และมีการแยกบทบาทของแรงงานไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน