นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “EEC GO : เดินหน้าลงทุน” ว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการลงทุน เพราะมองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น เห็นได้จากประสบการณ์ทางการเมืองของไทยที่เคยเหตุการณ์ลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้งก็จะยุติลงได้ในเวลาไม่นานมาก ซึ่งนักลงทุนต่างชาติเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติการเมืองของไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่มีความเข้าใจ และยังคงมีความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“การเมืองของไทยเป็นเรื่องปกติที่มีมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่สิ่งที่กังวลว่าจะกระทบต่อภาคการลงทุนที่สุด คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นแนวโน้มการลงทุนปีหน้าคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ว่าจะสามารถค้นพบวัคซีนป้องกันและรักษาโรคได้หรือไม่ เมื่อมีวัคซีนรักษาโรคอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อว่าสัญญาณการลงทุนจะกลับมาดีขึ้นในช่วงปลายปี 2564 แน่นอน”

นอกจากนี้ จากการสอบถามนักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์การเมืองในไทยดี ซึ่งคาดว่าจะไม่ยืดเยื้อ ไทยจึงยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และเหมาะสมที่จะเข้ามาลงทุนในสายตาต่างชาติ อาทิ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น คาดว่าอุตสาหกรรมที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนในปี 2564 เช่น อุตสาหกรรมแปรรูป เคมีชีวภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์ เพราะได้รับอานิสงส์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ภาคการผลิตในประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเช่นเดียวกัน

นายสุริยะ กล่าวว่า ดังนั้นกระทรวงฯ จึงเตรียมความพร้อมในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนสำหรับ รองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุน ด้วยไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ ที่เป็นประตูเชื่อมต่อไปยังประเทศเศรษฐกิจสำคัญ

โดยโครงการอีอีซีเป็นเสมือนหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง และเป็นประตูเชื่อมสู่ซีแอลเอ็มวี อาเซียน เอเชีย และเชื่อมโยงสู่ตลาดโลกต่อไป

ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค. 3563) กระทรวงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดึงดูดการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนล่าสุดในพื้นที่อีอีซี มีทั้งสิ้น 277 โครงการ เงินลงทุนรวม 106,300 ล้านบาท มูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 51% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ

“หากพิจารณาลึกลงไปถึงตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีพบว่า มีมูลค่ารวม 52,250 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน