นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้เกษตรกร และผู้ประกอบการสินค้าในชุมชนที่มีสินค้าเป็นเอกลักษณ์ ทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) และไม่ได้ขึ้นทะเบียนจีไอ เช่น ผลไม้, อาหาร, พืชผลทางการเกษตร และสินค้าของชุมชน ให้รวมกลุ่มกันตั้งทีมตรวจสอบไม่ให้พ่อค้าที่แอบอ้างนำสินค้าจากแหล่งอื่นมาแอบใช้ชื่อสินค้าในชุมชน เพื่อหลอกขายตามตลาดต่างๆ จนสร้างความเสียหายแก่สินค้าของชุมชน

“กรม กังวลว่าหากพ่อค้านำสินค้าจากแหล่งอื่นมาอ้างว่าเป็นสินค้าดังจากชุมชนต่างๆ ไปขายในท้องตลาด อาจทำให้สินค้าที่มีชื่อเสียงของชุมชนได้รับความเสียหายเพราะคุณภาพสินค้าหรือรสชาดความอร่อยไม่เหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นหากชุมชนมีความเข้มแข็ง ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่น ในการตรวจสอบว่ามีพ่อค้ารายใดมาแอบมาอ้างชื่อก็สามารถร้องเรียนมายังกรมหรือผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยดำเนินคดี”

นายทศพล กล่าวว่า สินค้าที่เห็นได้ชัดเจน เช่น สับปะรดภูแล มีการจำหน่ายกันทั่วประเทศโดยไม่ทราบว่าสับปะรดที่พ่อค้านำมาจำหน่ายจะเป็นภูแลของแท้ หรือเป็นพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน จนไม่สามารถแยกได้ ดังนั้นหากมีมาตรการในการตรวจสอบแหล่งที่มา จะทำให้เป็นผลดีต่อแก่เกษตรกร เช่น การรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนกับภาครัฐในการติดแหล่งที่มาของผลไม้ ทั้งการส่งเสริมให้ติดบาโค้ด หรือวิธีอื่นๆ เชื่อว่าต่อไปพ่อค้าไม่กล้าที่จะนำผลไม้ที่อื่นหรือพันธุ์ใกล้เคียงกันมาสวมรอย

“เป็นการกยกตัวอย่างกรณีของสับปะรดภูแลที่มีการขายกันมาก ซึ่งคนซื้อก็ไม่รู้ว่าอันไหนของแท้หรือพันธุ์อื่น ดังนั้นหากมีเครื่องมือตรวจสอบแหล่งที่มา แล้วเจ้าหน้าที่จะมีการสุ่มตรวจเชื่อว่าพ่อค้าก็ไม่กล้าแอบอ้าง และที่สำคัญในอนาคตอาจทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะสินค้าจะมีจำกัดหรือมีแต่ของแท้”

นอกจากนี้ ยังทราบข่าวว่า ปัจจุบันมีผลไม้ของไทยหลายชนิดถูกพ่อค้าต่างชาตินำไปมาติดเครื่องหมายการค้าของตนเอง เช่น ผู้นำเข้าทุเรียนเมืองจันท์ จากประเทศจีน ที่ระบุในแบรนด์สินค้าว่าเป็นทุเรียนเมืองจันท์ ซึ่งเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพและอร่อย เพื่อทำตลาดในประเทศจีน เบื้องต้นแม้ว่าสามารถทำได้ แต่หากพ่อค้าดังกล่าวนำทุเรียนจากประเทศอื่น หรือ จากแหล่งอื่นมาอ้างว่าเป็นทุเรียนเมืองจันท์จะผิดกฎหมายทันที เพราะจะทำให้ทุเรียนเมืองจันท์เสียชื่อเสียง เนื่องจากรสชาติ คุณภาพจะแตกต่างกัน

“การที่พ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาซื้อทุเรียนในไทยแล้วขอเครื่องหมายทางการค้าตนเอง เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้ว่าเป็นทุเรียนจันท์ก็สามารถทำได้ เพราะเกษตรกรไทยจะเน้นขายวัตถุดิบคือ ขายผลไม้ แต่หากพ่อค้าคนเดียวกันนำทุเรียนจากแหล่งอื่นมาอ้างว่าเป็นทุเรียนจันท์ ทางผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถที่จะดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางกรม ส่งเสริมให้มีการติดเครื่องหมายการค้าของผลไม้ต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำได้ง่าย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน