นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนส.ค. ที่ผ่านมา มีมูลค่า 21,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.2% สูงสุดในรอบ 55 เดือน เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ 24.7% จากปีก่อนโดยสินค้าที่ขยายตัวดี เช่น ข้าว 47.1% ผักผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปขยายตัว 29.4% ยางพารา 24.6% น้ำตาลทราย 40.0% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 15.3%

รวม 8 เดือนแรกสินค้ากลุ่มนี้ขยายตัว 16.4% สินค้าอุตสาหกรรม ก็ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 12.2% จากปีก่อน สินค้าที่ขยายตัวคือ ทองคำ 138.9% ผลิตภัณฑ์ยาง 50.5% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 16.8% เม็ดพลาสติก 23.8% รวม 8 เดือนสินค้ากลุ่มนี้ขยายตัว 7.8%

ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญก็ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยตลาดที่มีศักยภาพสูงขยายตัวถึง 7.5% คือ สหรัฐขยายตัว 7.4% ญี่ปุ่น 11.7% และสหภาพยุโรป 3.7% ส่วนตลาดศักยภาพสูงขยายตัว 16.4% โดยมีสาเหตุมาจากตลาดจีนขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องถึง 25% CLMV ขยายตัว 17.2% เอเชียใต้ขยายตัว 31.5%

รวม 8 เดือนแรกตลาดจีนขยายตัว 30.1% ตลาดยุโรปขยายตัว 6.9% ตลาดสหรัฐขยายตัว 7.8% ตลาดญี่ปุ่นขยายตัว 8.6% ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัว 19.9% ตลาด CLMV ขยายตัว 14.5% เป็นต้น

จากการที่ทุกตลาดและทุกสินค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ 8 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของไทยมีมูลค่า 153,623 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.9% จึงมั่นใจว่าการผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 7% ในปีนี้ ตามเป้าหมาย แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่จะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า ที่ได้กำหนดราคาค่าเงินบาทไว้ก่อนแล้ว ดังนั้นการส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงสิ้นปี อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกในปีหน้าบ้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่การแข็งค่าของเงินบาทไทย ยังใกล้เคียงกับภูมิภาค จึงยังแข่งขันได้

ส่วนการนำเข้าในเดือนส.ค. มีมูลค่า 19,134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.9% ทำให้ดุลการค้าเดือนส.ค. เกินดุล 2,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมการค้าของไทย 8 เดือนแรกของปี ยังคงเกินดุลอยู่กว่า 8,873 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน