นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยร่วมกับ 9 สมาคม, เครือข่ายเกษตรกร ว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการขับเคลื่อนสารป้องกันกำหนดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ยกเลิกการใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ซึ่งเป็นยาปราบศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าหญ้า ที่เกษตรกรไทยใช้กันมานานกว่า 50 ปี โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพ สมาพันธ์ฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจาก นักวิชาการ เกษตรกร ผู้เชียวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั่วประเทศจำนวน 7 ครั้ง

ขณะนี้ภาครัฐไม่มีความชัดเจนในการควบคุมสารเคมี ส่งผลให้มีการกักตุนและโก่งราคาสารพาราควอต จากเดิมราคา 380 บาท/แกลลอน(5 ลิตร) เพิ่มกว่า 60% เป็นราคา 580-600 บาท/แกลลอน ถือว่าภาครัฐซ้ำเดิมเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ผลิตผลผลิตป้อนอุตสาหกรรมการเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ พืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวาน มีมูลค่าผลผลิตรวม มากกว่า 4.42 แสนล้านบาท หากยกเลิกสารพาราควอต ต้นทุนการเกษตรเพิ่ม 3.97 หมื่นล้านบาท และหากไม่กำจัดวัชพืช ผลผลิตลดทันที 1.12 แสนล้านบาท

“เกษตรกรทุกสาขาไม่เห็นด้วยกับการแบนสารพาราควอต เพราะถือว่าเพิ่มต้นทุนและไม่มีทางเลือก หรือสารทางเลือกให้กับเกษตรกร ถือเป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ในยุคที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขาดแคลนแรงงาน”

นายสุกรรณ์ กล่าวว่า นอกจากสมาพันธ์จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตนำเข้า และการขึ้นทะเบียนสารเคมีในประเทศไทยได้ตรวจสอบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1. การทบทวนค่าพิษวิทยา 2. การห้ามใช้ในประเทศต่างๆ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ 3. การปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาประชาคมโลก ข้อ 4. ผลการรับฟังความเห็น

โดยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดี กวก. ได้สรุปผลการตรวจสอบยืนยันว่า สารพาราควอต ยังสามารถใช้ได้ไม่เป็นอันตราย หากใช้ภายใต้การควบคุม และ กวก. จะนำเสนอผลการตรวจสอบไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมให้เกิดความชัดเจนต่อไป

ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่าพาราควอต เป็นสาเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดี ยืนยันว่า สารพาราควอตไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน และโรคหนังเน่า แต่อย่างใด และกรณีถูกผิวหนังหากปฏิบัติถูกต้องใช้ตามวิธีการใช้ตามที่ฉลากกำหนดจะไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสารพาราควอต มีขึ้นทะเบียนการใช้มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเข้มงวดในเรื่องของการอนุญาตให้ใช้สารเคมี อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น เป็นต้น และผู้ส่งออกในต่างประเทศยอมรับการเพาะปลูกโดยใช้สารพาราควอต ว่ามีความปลอดภัย โดยสารพาราควอตไม่ได้อยู่ในบัญชีสารเคมีเฝ้าระวัง หรือ มีมาตรการพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่อย่างใด

ด้านศาสตราจารย์นพ.อำนวย ฐิถาพันธ์ ที่ปรึกษาคณะบดี คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้เชียวชาญด้านพิษวิทยา และเชี่ยวชาญและวิจัยสารพาราควอต กล่าวว่า มีการศึกษาโครงสร้างของพาราควอต และมีการเรียนและสอนนักศึกษาแพทย์มาเป็นเวลา 40 ปี ไม่พบว่าสารพาราควอตทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง หรือเกิดโรคพาร์กินสันแต่อย่างใด แต่หากมีการตายจากพาราควอตเกิดขึ้นคือการกินพาราควอตเพื่อฆ่าตัวตายเท่านั้น ไม่มีการตกค้างในพืชของเกษตรกร หากใช้ภายใต้การควบคุม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน