พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้ น.ส.ชุติมา บุญประภัศร รมช.เกษตรฯ เป็นประธานโครงการแปลงสาธิต แปลงใหญ่เกษตร 4.0 โดยนำร่อง 7 แปลง มาเพื่อทำเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้นแบบการทำเกษตรเพื่อรองรับ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และขาดแคลนแรงงานของไทย โดยจะเริ่มที่ 7 สินค้า คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน โคนม ผลไม้ และประมง ซึ่งการดำเนินโครงการแปลงสาธิตแปลงใหญ่ครั้งนี้ จะใช้เครื่องจักรการเกษตรเพื่อทุ่นแรง เป็นตัวอย่างให้กับการทำการเกษตรแบบใหม่ของไทยในอนาคต

“แปลงสาธิตจะเป็นแปลงต้นแบบ ที่จะมีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรแทนคน ตั้งแต่การเตรียมดิน ไปจนถึงการใช้โดรนในการฉีด พ่น ยาฆ่าแมลง และใช้เครื่องจักในการเก็บเกี่ยว ซึ่งการทำการเกษตรแบบสมัยใหม่จะใช้คนในแต่ละขั้นตอนน้อยมาก”

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า “ในคณะทำงานพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ แม้จะสั่งการให้ น.ส.ชุติมา เป็นประธาน ผม จะนั่งหัวโต๊ะกำหนดนโยบายอีกชั้น เพื่อให้งานมันเร็วขึ้น และเป็นรูปธรรม โดยในการประชุมผู้บริหารกระทรวงเมื่อต้นเดือนก.ย. 2560 กระทรวงเกษตรฯ กำหนดทิศทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรกล วิทยาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเกษตร 4.0 โดยจัดทำเป็นร่างการทำงานฯ เพื่อแสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการดำเนินงานของปี 2561 เพื่อสอดรับกับนโยบายเกษตร 4.0 ต่อไป”

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคเกษตร ภายใต้ข้อจำกัดทางทรัพยากร เพื่อทำให้สินค้ามีคุณภาพ สะอาดปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเกษตร 4.0 มีรายละเอียดดังนี้ 1. ปัญหาและความท้าทาย 1.1 โครงสร้างตลาดเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการนำเข้า เกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐ 1.2 เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลเป็นเพียงเครื่องทุ่นแรงไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจของหน่วยผลิต 1.3 เพื่อสร้างงานบริการรับจ้างในกระบวนการผลิต และ 1.4 การกำกับดูแล ขึ้นทะเบียน และมาตรฐานงานบริการรับจ้างในกระบวนการผลิตที่ชัดเจน โดยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรกลจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

2. ด้านการตลาด จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับลดภาษีนำเข้า เพื่อให้มีผู้ประกอบการเข้ามาให้ธุรกิจนี้มากขึ้น เกิดการแข่งขันส่งผลให้ราคาเครื่องจักรลดลงได้ และมีการกำกับดูแลราคาเครื่องจักร มาตรฐานการผลิต การจำหน่าย และวิธีการ กฎระเบียบในเรื่องต่างๆ รวมถึงการขึ้นทะเบียนของผู้ให้บริการทั้งหมด ซึ่งมี GISDA ร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ จะดำเนินงานจัดทำข้อมูลการให้บริการรับจ้างเครื่องจักรต่างๆ ลักษณะคล้ายกับ Grab Taxi สิ่งที่จะต้องทำคือ โครงสร้างตลาด

3. การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ด้านโครงสร้างตลาด โดยลดอุปสรรคการนำเข้า เช่น ภาษีนำเข้า หรือ การส่งเสริมการลงทุน กำกับราคาจำหน่าย กำหนดมาตรฐานการผลิต การจำหน่าย และการใช้ ขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการรับจ้าง กำหนดมาตรฐานบังคับ การให้บริการรับจ้าง ตรวจสอบรับรอง กำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐาน เชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง ผู้ให้บริการและเกษตรกรผู้รับบริการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน