“พรเทพ อินพรหม”

นับเป็นอีกปีที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) 2560 ซึ่งในปีนี้ มาในภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

นอกจากอบรมในห้องเรียน จากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงข้าราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลักสูตรนี้ยังพาผู้สื่อข่าวไปเรียนรู้เปิดหูเปิดตากับนิยาม”ยุทธศาสตร์ 4.0″ ถึงประเทศ “ญี่ปุ่น” ถือว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย

การไปศึกษาดูงานต้นแบบ 4.0 ครั้งนี้ ถือว่า “ครบเครื่อง” เพราะได้ศึกษา ทั้งภาค การเงิน พลังงาน ภาคการเกษตร ระบบขนส่งมวลชน แบบจัดเต็ม

ภาคการเงิน เข้าเยี่ยมชม “ธนาคารกรุงเทพ” สาขาโตเกียว ที่เปิดให้บริการมากว่า 60 ปี เป็นหนึ่งในสาขายุทธศาสตร์ สำหรับธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกบริการทางการเงิน แก่ลูกค้าได้อย่างครอบคลุม

นายทวี พวงเกตุแก้ว ผู้จัดการสาขาโตเกียว ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งเดียวในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ให้บริการธุรกรรมการเงินเต็ม รูปแบบ และครบวงจรมากว่า 60 ปี

ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพ มี 2 สาขา ในญี่ปุ่น คือสาขาโตเกียว และสาขาโอซากา ให้บริการทั้งสินเชื่อ ธุรกรรมระหว่างประเทศ โอนเงินไปต่างประเทศ และแลกเปลี่ยนเงินตรา พร้อมทั้งมีบริการเฉพาะ สนับสนุนลูกค้าไทยที่ลงทุนในญี่ปุ่น เช่นเดียวกับสนับสนุนลูกค้าญี่ปุ่นที่ต้องลงทุนในไทยและอาเซียน

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในยุค นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ตั้งเป้าหมายให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด ปัญหาการหดตัวของประชากรและสังคมผู้สูงวัย และผลักดันให้เกิดสังคม ที่ทุกคนมีส่วนร่วมต่อการเติบโตของประเทศ ผ่านนโยบายเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เรียกว่า “New Three Arrows” of Abenomicsประกอบด้วย1.สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง 2.เพิ่มอัตราการเกิด 3.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผู้สูงวัย

จะเห็นได้ว่านโยบายหลักทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น สอดรับกับโครงสร้างเปลี่ยนแปลง ทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจโลก และสังคมผู้สูงอายุ เป็นบทเรียนให้ไทยต้องเตรียมตัวเผชิญ กับปัญหาในลักษณะเดียวกัน

ด้านพลังงานมีโอกาสเยี่ยมชมโครงการของบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม)

น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียเริ่ง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทน และยังเปิดกว้าง สำหรับนักลงทุน

มีเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มระยะ 4-5 ปีข้างหน้า 300-400 เมกะวัตต์ ปัจจุบันดำเนินงานอยู่ 4 โครงการ ซึ่งบริษัทได้เข้ามาศึกษาด้านการลงทุนมากว่า 3 ปี

โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ คิมิสึ เมืองชิบะ เนื้อที่ 116 ไร่ ที่มาดูงานนี้ ต้องใช้ระยะเวลาพัฒนากว่า 1 ปี ต้องปรับพื้นที่ภูเขา ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขณะนี้ดำเนินการได้ 70% แล้วเสร็จช่วงกลางปี 2561 แม้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม ที่ญี่ปุ่นสูงถึง เมกะวัตต์ละ 100 ล้านบาท แต่ยอมรับว่า ผลตอบแทนที่ได้รับอยู่ในอัตราที่ดีถึง 13-14% โดยได้รับเงินอุดหนุนจากการรับซื้อไฟฟ้า จากภาครัฐถึง 11-12 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ศักยภาพการขยายธุรกิจไฟฟ้าของไทยยังมีค่อนข้างจำกัด ทำให้บริษัทต้องแสวงหาการลงทุนที่มีผลตอบแทนที่ดีใน ต่างประเทศมากขึ้น ต้องกลับมาคิดว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ 4.0 ด้านพลังงานรัฐบาลไทย มีแรงจูงใจที่ดีพอแล้วหรือยัง เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น

ภาคการเกษตร ญี่ปุ่นมีความโดดเด่น สามารถเพาะปลูกสินค้าทางการเกษตรได้อย่างมีคุณภาพ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการการเพาะปลูก หรือ “สมาร์ต ฟาร์ม” มีการนำข้อมูลภูมิอากาศเข้ามาใช้บริหารจัดการ ดูแลพื้นที่เพาะปลูก ให้สอดคล้องกับสภาพดินฟ้าอากาศ

รวมทั้งเพาะปลูกรูปแบบ “ฟาร์มในร่ม” ที่นำเทคโนโลยีเข้ามา ผสมผสาน ทั้งการควบคุมแสง วัดค่าความชื้น ลดปริมาณการใช้น้ำ แทบจะไม่ต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช หรือสารเคมีประเภทอื่นๆ

คณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม “สวนผลไม้ดรากอนฟาร์ม” จังหวัดชิบะ สวนผลไม้ครบวงจร ทั้งเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายผลผลิต และเป็นสวนผลไม้เชิงท่องเที่ยว มีการปลูก สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ มะเขือเทศ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสวนผลไม้ พร้อมหยิบทานได้แบบสดๆ

ไทยที่ถือเป็นประเทศเกษตรกรรม จำเป็นต้องถอดรหัส 4.0 ในการใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการการเพาะปลูก และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว ถือเป็นกุญแจความสำเร็จที่เกษตรกรญี่ปุ่นนำมาใช้

ส่วนระบบขนส่งมวลชน ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งระบบราง ของโลก คณะสื่อมวลชนได้ชมพิพิธภัณฑ์รถไฟใต้ดิน Tokyo Metro ที่รวบรวมประวัติ ความเป็นมาของรถไฟฟ้าใต้ดินญี่ปุ่น ต่อขยายเส้นทางครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟใต้ดิน

ในพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงขบวนรถไฟตั้งแต่รุ่นแรก ให้ขึ้นไปเดินชม ทดลองนั่ง ถือเป็นต้นแบบของรถไฟฟ้า ที่นำมาประยุกต์ใช้ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ช่วงหยุดสุดสัปดาห์ พ่อแม่จะพาบุตรหลาน มาเที่ยวเล่นศึกษาเป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรของประเทศ

คณะยังมีโอกาสสัมผัสกับระบบขนส่งในโตเกียวจริงๆ ทดลอง ซื้อตั๋วและนั่งจากสถานีชินจูกุไปยังสถานีอาซากุสะ สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือความตรงต่อเวลา

จบทริปดูงานแล้ว พบว่าญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์ มีศักยภาพและมี ชั้นเชิงทางโครงสร้างเศรษฐกิจที่รุดหน้าไปมาก ของไทยอาจจะยังตั้งไข่กับนิยามคำว่า 4.0 คืออะไร แต่ญี่ปุ่นไปไกลถึงขั้น 5.0 ที่ใช้ผสมผสานนวัตกรรม เทคโนโลยี การใช้ชีวิตของประชาชนได้อย่างลงตัว

หากถามว่าไทยมีโอกาสไปถึงจุดนั้นหรือไม่ คำตอบคือมี แต่จะไปได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน