นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสูงถึง 2,754 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 113% (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ต.ค. 2560) ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ควบคุมอุทกภัย รวมถึงยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่องมากกว่าวันละ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร

และจากสถานการณ์ดังกล่าว เขื่อนอุบลรัตน์จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิมวันละ 34 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 37, 40, 43 และ 45 ล้าน ลบ.ม. ตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น ให้ระบายได้ ระหว่างวันที่ 13-16 ต.ค. 2560 จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน และป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นข้ามคันดินไปยังพื้นที่เหนือเขื่อน ต.โนนสังข์ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 38,000 ครัวเรือน แต่หากปริมาณน้ำของเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับ 183 ม.รทก. คณะกรรมการฯ จะประชุมประเมินสถานการณ์ เพื่อดำเนินการตามกฎความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน (Dam Safety) ต่อไป ทั้งนี้ การระบายน้ำดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นท้ายเขื่อน ทั้งลำน้ำพอง ลำพะเนียง และแม่น้ำชี

ปัจจุบัน กฟผ. เขื่อนอุบลรัตน์ เปิดศูนย์อำนวยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นได้มอบถุงยังชีพให้แก่ชุมชนโดยรอบเขื่อนอุบลรัตน์ 700 ชุด และชุมชนโดยรอบเขื่อนจุฬาภรณ์ 300 ชุด รวมทั้งสิ้น 1,000 ชุด เรียบร้อยแล้ว

ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. ที่ผ่านมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับอิทธิพลของพายุ “ตาลัส”, “เซินกา” และหย่อมความกดอากาศต่ำที่สลายตัวจากพายุ “ฮาโตะ”

ประกอบกับระหว่างวันที่ 12-17 ต.ค. 2560 จะมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำพองอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์น้ำของเขื่อน กฟผ. ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำใน อ่างเก็บน้ำ 168 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102% , เขื่อนสิรินธร มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 1,642 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83% และเขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 167 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101%

สำหรับการบริหารจัดการน้ำเขื่อนของ กฟผ. ที่ผ่านมาเป็นไปตามแผนการระบายน้ำของกรมชลประทานและคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำแต่ละจังหวัด ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนเป็นสำคัญ การระบายน้ำในแต่ละครั้ง กฟผ. ได้ดำเนินการจัดส่งหนังสือแจ้งให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น และมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมและป้องกันผลกระทบจากการระบายน้ำ เป็นไปตามข้อกำหนดและการปฏิบัติเรื่องการระบายน้ำ

“กฟผ. ได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยติดตามข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ WATER.EGAT.CO.TH และแอพพลิเคชั่น EGAT Water ซึ่งสามารถดาวน์โหลดค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำได้อย่าง Real Time ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการถ่ายทอดสดจากกล้อง CCTV ของแต่ละเขื่อนอีกด้วย” ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน