นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “แนวทางการพัฒนากลุ่มธุรกิจให้สอดคล้องกับ S-Curve เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0” ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิล์ด ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกันวางมาตรการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายระหว่างผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างเหมาะสมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์แห่งอนาคต และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ คาดจะมีความชัดเจนภายในต้นเดือนพ.ย.นี้

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเบื้องต้นจะกำหนดมาตรการส่งเสริมการกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ มาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการผลิตคนคล้ายมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และยานยนต์ คาดจะแล้วเสร็จเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในต้นเดือนพ.ย. เช่นกัน

ส่วนการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพจะคล้ายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ขนาดพื้นที่จะเล็กกว่า และจะกระจายอยู่ในทุกภาค เพื่อดึงศักยภาพของพื้นที่ขึ้นมาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ภาคเหนือใช้พื้นที่จ.เชียงใหม่ และเชียงราย เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พื้นที่ จ.ขอนแก่น เพราะมีพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาสินค้าไบโอชีวภาพ ภาคกลางใช้พื้นที่ภาคกลางตอนบนเน้นในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และชีวภาพ ภาคใต้เน้นการแปรรูปยางให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับบทบาทศูนย์ภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่งทั้งประเทศ ให้ลงไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยนำกลไกของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ไอทีซี) ไปอยู่ในทุกศูนย์ภาค เพื่อยกระดับเทคโนโลยีของเอสเอ็มอีด้วย อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเพื่อเตรียมเสนอ ครม. ต่อไป

ด้านน.ส.พจนี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สกรศ. กำลังทำแผนพัฒนาบุคลากร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนและตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเตรียมเสนอแผนให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายอุตตม เป็นประธาน ในวันที่ 20 ต.ค.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสกรศ. กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก แต่ต้องไปให้ตรงตามทิศทางที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ถือว่าประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว เห็นได้จากการเจรจากับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น อาลีบายา แอร์บัส ให้เข้ามาลงทุนในไทย หากมีความชัดเจนสามารถทำให้เกิดการลงทุนได้ เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทลูกหรือเครือข่ายของบริษัทดังกล่าวจะเข้ามาลงทุนในอีอีซีตามมาอีกมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน