นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมร่วมกับกรมธุรกิจพลังงานติดตามแนวโน้มร้านค้าแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้ม ที่มีอยู่ประมาณ 7,000 แห่งทั่วประเทศว่าจะเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินแผนงานและแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ว่าจะเปิดให้ผู้ค้าเข้าโครงการแบบสมัครหรือมีความจำเป็นต้องออกเป็นมาตรการบังคับหรือไม่ จากล่าสุดมีร้านค้าแอลพีจีเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 2,000 แห่ง คาดจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

“ขณะนี้มีความเห็นตรงกันว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีเกือบ 12 ล้านคน แต่การให้สิทธิ์ใช้ซื้อแอลพีจีนั้น รัฐกำหนดวงเงินไว้ที่ 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ครอบคลุมประชาชนประมาณ 5-6 ล้านครัวเรือน ดังนั้นหากร้านค้าใดไม่เข้าร่วมโครงการอาจเสียประโยชน์ในการจำหน่ายเพิ่ม จึงเชื่อว่าน่าจะมีผู้ค้าทยอยเข้ามาเพิ่มเติมอีก โดยขณะนี้โครงการเปิดโอกาสให้ผู้ค้าสมัครใจไม่บังคับ และยังไม่มีประชาชนร้องเรียนถึงการเข้ารับสวัสดิการไม่ทั่วถึง แต่หากพบว่าร้านค้าแอลพีจีไม่เพียงพอรองรับประชาชนจำนวนมากที่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ อาจต้องหามาตรการเข้ามาดำเนินการเช่น เป็นการบังคับให้เข้าร่วม”นายชิษณุพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่าข้อกำหนดที่ให้ร้านค้าแอลพีจีต้องติดเครื่องรูดบัตร ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมประมาณเดือนละ 100 บาท ไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ร้านค้าไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะเชื่อว่าจะคุ้มค่าเมื่อเทียบกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการใช้แอลพีจีปี 2560 ภาพรวมคาดว่าจะเติบโต 2.5-3% จากปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเติบโตจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการใช้ในภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากภาวะการส่งออกและเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ยกเว้นภาคขนส่งที่มีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องเพราะรถยนต์ส่วนใหญ่หันไปใช้น้ำมันที่มีราคาต่ำแทน

อย่างไรก็ตาม เห็นได้จาก 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) การใช้แอลพีจีอยู่ที่ 16.7 ล้านกิโลกรัม(ก.ก.)ต่อวันขยายตัว 2.4% แบ่งเป็นครัวเรือน 5.9 ล้านก.ก.ต่อวัน โต 2.1% ภาคปิโตรเคมี 5.4 ล้านก.ก.ต่อวัน โต 11.6% ภาคขนส่ง 3.7 ล้านก.ก.ต่อวัน ลดลง 9.6% ภาคอุตสาหกรรม 1.8 ล้านก.ก.ต่อวันโต เพิ่มขึ้น 6%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน