นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีจังหวัดที่แหล่งท่องเที่ยวยังเดินทางได้โดยไม่มีผลกระทบ ได้แก่ อุบลราชธานี, นครพนม, อุดรธานี ขณะที่ จ.เลย ที่น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ เริ่มมีปริมาณน้ำลดลงตามลำดับแล้ว เช่นเดียวกับ นครราชสีมา และ สุรินทร์ ยังเป็นปกติ แต่ ยังเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดที่ จ.ขอนแก่น ที่ยังไม่กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวภาพรวม แต่มีผลต่อพื้นที่เชิงเกษตรเนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมมากถึง 14 อำเภอเป็นผลจากการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์อย่างรวดเร็ว ทำให้กระทบต่อเส้นทางชมทิวทัศน์ริมอ่างเก็บน้ำ (Scenic Road) มาระยะหนึ่ง ส่วนแหล่งท่องเที่ยวและรีสอร์ตริมลำน้ำพอง เริ่มมีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วม ที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง และขณะนี้ยังติดตามใกล้ชิดในโอกาสที่มวลน้ำจะท่วมเข้า อ.เมืองและเทศบาลขอนแก่น แต่เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหาทางป้องกันน้ำท่วมเข้าเขตเทศบาล

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สถานการณ์เดินทางในเดือน ต.ค.นี้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีพระราชพิธีสัปดาห์หน้า ตลาดต่างประเทศเริ่มรับทราบข้อมูลข่าวสาร และปรับเส้นทางไปเที่ยวในปริมณฑลแทน เลี่ยงเส้นทางในกรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่าจะมีคนไทยหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก และหลังจากจบงานสำคัญไปแล้ว คาดว่าในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ตลาดต่างประเทศจะเติบโตอย่างคึกคัก เนื่องจากมีปัจจัยด้านฤดูกาลไฮซีซันมาสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม กำลังติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิดทั้งในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้สมาชิกภาคธุรกิจรายงานผลกระทบหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่ท่องเที่ยวบางแห่งที่มีอุปสรรคด้านการเข้าถึงพอสมควร

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลนักท่องเที่ยวไทย พบว่าในช่วงไตรมาส 4 ยังมีการวางแผนเดินทางในประเทศ 25% ใกล้เคียงกับกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยภูมิภาคที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตามลำดับ ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ที่พักที่น่าสนใจยังสำคัญที่สุดกว่า 43% ตามด้วยความสวยงาม 42%, ราคาสินค้าที่ไม่แพง 41% และอาหารอร่อย 38% ซึ่งในการหาข้อมูลเตรียมเดินทางของคนไทย 55% ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางหลัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน