นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศจากรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ในช่วง 1-2 วันนี้ จะยังคงมีฝนตกเล็กน้อย โดยในวันที่ 22 ต.ค. 2560 ฝนส่วนใหญ่จะตกบริเวณพื้นที่ภาคกลางตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง แต่มีปริมาณไม่สูงมากนักเฉลี่ย 10-30 มิลลิเมตร (ม.ม.) ในวันที่ 23 ต.ค. ฝนจะมีลักษณะกระจายตัว และมีปริมาณเพียงเล็กน้อยเฉลี่ยเพียง 10 ม.ม.เท่านั้น และในวันที่ 24 ต.ค. คาดว่าจะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาว

ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าหลังจากนี้ การบริหารน้ำในลุ่มเจ้าพระยาน่าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมวลน้ำที่บริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบนที่ขณะนี้มีปริมาณมาก น่าจะเริ่มทรงตัวภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นคาดว่ามวลน้ำจะเริ่มลดระดับลง และระบายลงสู่อ่าวไทย จนเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงที่ 20 พ.ย. 2560

อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท กรม ประสานไปยังจังหวัดในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดหาพื้นที่ที่ว่างจากการเพาะปลูก เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำชั่วคราว หากมีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มเติม รวมทั้งเตรียมเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกชุก โดยเบื้องต้นกรม ระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อเตรียมรับมือในพื้นที่แล้ว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงบริเวณจ.กำแพงเพชร หลังจากที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อ.เมือง จ.ตาก และอ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำปิง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอีก ล่าสุด ณ วันที่ 20 ต.ค. ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ วัดได้ 1,145 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,919 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.25 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจาก จ.นครสวรรค์ เมื่อรวมกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ยังคงปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร (ซม.) ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขต อ.เมือง อ.วัดสิงห์ และอ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขตอ.เมือง จ.อุทัยธานี และอ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ด้วย ซึ่งกรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งฝ่ายปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ดังกล่าว ให้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งแล้ว

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,598 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทรงตัว ส่วนบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้รับน้ำเพิ่มเข้าไปในระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในเกณฑ์สูงสุดตามศักยภาพที่รับได้ ก่อนจะส่งน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง รวมปริมาณน้ำที่นำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 1,290 ล้านลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จนถึงขณะนี้ยังปิดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน และเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด สำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง

“สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 58,327 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 82% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด เป็นน้ำใช้การได้ 34,801 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 74% สามารถรองรับน้ำได้อีก 13,031 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 19,918 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 80% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,222 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 73% สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 4,979 ล้าน ลบ.ม.” นายสมเกียรติ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน