นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) เปิดเผยว่า โรดแม็ป 10 ปี หรือภายในปี 2020 (2563) ตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจในเครือซีพี ซึ่งดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศทั่วโลกไปสู่เป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยที่ล่าสุด 3 บริษัทหลักในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ และทรู ได้รับเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ ประเภทตลาดเกิดใหม่ (The Dow Jones Sustainability Index Emerging Markets or DJSI) ประจำปี 2560 สะท้อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนครบทุกมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องนโยบายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์

นอกจากนี้ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) องค์การเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ได้รายงานว่าเครือซีพีได้คะแนนถึง 72.2% อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ที่มีคะแนนอยู่ระหว่าง 78-82% อีกทั้ง ซีพีเอฟ และทรู ยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index จัดอันดับโดยฟุตซี่ รัสเซล ตอกย้ำแนวทางความยั่งยืนของเครืซีพี สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก

พร้อมกันนี้เครือซีพี อยู่ระหว่างวางโครงสร้างในการจัดตั้ง กองทุนซีพีเพื่อพัฒนาสังคม (CP Social Impact Fund) โดยเงินกองทุนตั้งต้นในระยะ 5 ปี (2561-2565) เงินกองทุนตั้งต้นอยู่ที่ประมาณ 1-2 พันล้านบาท เพื่อเข้าไปสนับสนุนเงินลงทุนและหรือร่วมลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม โดยส่วนหนึ่งจะให้เป็นเงินลงทุนภายใต้ธุรกิจเพื่อสังคมของเครือซีพี และอีกส่วนหนึ่งเป็นการให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างโอกาส และสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนท้องถิ่น เพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ และแก้จุดอ่อนของสังคมนั้นๆ (Social pain point) และเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดและสร้างความยั่งยืนได้

โดยบริษัทจะนำกำลังตลาดหรือฐานลูกค้าของเครือซีพีที่มีอยู่เข้าไปรองรับธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ ซึ่งการดำเนินดังกล่าวอยู่นอกเหนือจากปัจจุบันที่เครือซีพี ซึ่งมีธุรกิจอยู่ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และใช้งบประมาณสำหรับการดำเนินกิจกรรมด้านกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสิ่งแวดล้อม (ซีเอสอาร์) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเป็นเงิน 1-1.5 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน