พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมการข้าวได้รายงานผลการดำเนินงานแผนข้าวครบวงจร ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปี หรือข้าวรอบที่แรก 58 ล้านไร่ แล้วคาดว่าจะได้ผลผลิตเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่เนื่องจากปีนี้น้ำท่าดีมาก ดังนั้นจึงคาดว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวนาปรังหรือทำนารอบ 2 มากกว่าที่กำหนดไว้ ดังนั้นจึงกำชับให้กรมการข้าว ควบคุมพื้นที่ปลูกให้เข้มงวดที่สุด พร้อมทั้งได้ให้ นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจและเป็นที่ปรึกษาการเปลี่ยนข้าวเป็นพืชอื่นในพื้นที่ไม่เหมาะสม

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ผลผลิตข้าวนาปีคาดว่าจะได้ผลผลิตตามที่กำหนดไว้ 29.5 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 17.76 ล้านตันข้าวสาร โดยแบ่งเป็นข้าวนาปี 22.6 ล้านตันข้าวเปลือก และข้าวนาปรัง หรือข้าวรอบที่ 2 ผลผลิต 7 ล้านตันข้าวเปลือก โดยข้าวนาปี แยกเป็น ข้าวหอมมะลิ 8.07 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวหอมจังหวัด 1.39 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวหอมปทุม 9.2 แสนตัน ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ 1 ล้านตัน ข้าวเจ้า 7.97 ล้านตันข้าวเปลือก ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ 12.20 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวเหนียว 5.87 ล้านตันข้าวเปลือก ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ 6.72 ล้านตันข้าวเปลือก และข้าวอื่นๆ 1.2 แสนตันข้าวเปลือก

ส่วนข้าวนาปรัง ที่จะเริ่มปลูกตั้งแต่ ปลายเดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป ประมาณ 11 ล้านไร่ แยกเป็นในเขตชลประทาน 8.2 ล้านไร่ และ นอกเขตชลประทาน 3.3 ล้านไร่ ผลผลิตประมาณ 7 ล้านตันข้าวเปลือก

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ปริมาณน้ำเอื้อต่อการเพาะปลูกมาก จึงเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะขยายพื้นที่การทำนาปรังมากขึ้น โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะมีพื้นที่รวมประมาณ 12 ล้านไร่ หรือเกินกว่าที่แผนกำหนดไว้ประมาณ 1 ล้านไร่ ในภาคอีสานและภาคกลาง ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนให้ทำอาชีพอื่นที่มีรายได้เท่ากับการปลูกข้าว หรือปศุสัตว์ ที่ต้องดำเนินการส่งเสริมให้เร็วที่สุดก่อนเกษตรกรลงมือทำนา

“การทำนาปรังของไทยสูงสุดช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าวและประกันการรับซื้อ อยู่ที่ 15 ล้านไร่ เนื่องจากราคาจูงใจให้ลงทุน แต่พื้นที่การทำนาปรังที่เหมาะสม ไม่เกิน 11 ล้านไร่ ส่วนที่เกินไปนั้นจะอยู่นอกเขต เกษตรกรใช้วิธีการสูบน้ำ ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่า หากทำความเข้าใจส่งเสริมให้ทำพืชอื่นหรือาชีพอื่นที่สร้างรายได้ใกล้เคียงกัน คาดว่าจะจูงใจเกษตรกรได้”นายอนันต์ กล่าว

สำหรับราคาข้าวหอมมะลิ ความชื้น 15% ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับตันละ 12,000-13,000 บาท เป็นที่น่าพอใจ จากเดิมที่คาดว่าราคาจะตกต่ำในช่วงที่เก็บเกี่ยวพร้อมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการรับจำนำยุ้งฉางของรัฐบาล เพื่อชะลอการระบายข้าวเอาไว้ก่อน ทำให้ระดับราคาข้าวเริ่มปรับสูงขึ้น

นายอนันต์ กล่าวว่า การปลูกข้าวนาปีที่เป็นไปตามแผนข้าวครบวงจร และส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ 1,172 แปลง 126,497 ราย 1,0806,579 ไร่ นั้น พบว่าเกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้เฉลี่ย 20% เพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ เฉลี่ย 15% โดยข้าวในโครงการมีผู้ประกอบการค้าข้าว 133 ราย ร่วมโครงการ รับซื้อข้าวอินทรีย์ 32 ราย รับซื้อข้าวอินทรีย์และข้าวจีเอพี 59 ราย และรับซื้อข้าว จีเอพี 42 ราย ได้เชื่อมโยงตลาดกลุ่มเกษตรกร 239 กลุ่ม รวม 19,710 ตัน และเชื่อมโยงกับตลาดกลุ่มเกษตรกร 36 กลุ่ม รวม 20,390 ตัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน