นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ รองอธิบดีกรมการรถไฟญี่ปุ่น ว่า ญี่ปุ่นได้นำเสนอรายงานความเหมาะสมโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-ญี่ปุ่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 418 ก.ม. ให้ฝ่ายไทยพิจารณา คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 2.76 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ไม่รวมงานการบริหารการเดินรถสัมปทานระยะเวลา 30 ปี โดยจะแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 เฟส เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 418 ก.ม. และเฟส 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ 255 ก.ม.

ส่วนรูปแบบลงทุนญี่ปุ่นเห็นว่ารัฐบาลควรลงทุนเองทั้งหมด หากต้อการให้โครงการประสบความสำเร็จ เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยได้นำเสนอกรณีศึกษาของประเทศไต้หวันให้ฟังว่า ช่วงแรกรัฐบาลไต้หวันเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน แต่ต่อมาเอกชนรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ไหว เพราะมีทั้งภาระดอกเบี้ยเงินกู้ และการซ่อมบำรุง สุดท้ายรัฐบาลต้องเข้ามาเทคโอเวอร์ เพื่อให้โครงการสามารถเดินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นศึกษารูปแบบการลงทุนเพิ่มเติมด้วย โดยเสนอให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนกับรัฐบาลไทยด้วย เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีชินคังเซนของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นอาจจะจัดตั้งบริษัทเข้ามาร่วมลงทุนกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงการ

“คาดว่าภายใน 3 เดือน กระทรวงจะสรุปผลรายงานการศึกษาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการได้ โดยระหว่างนี้กระทรวงจะต้องถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยหากครม. เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการออกแบบการก่อสร้างเส้น ในเฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก 418 ก.ม. ต่อไป ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่”

นายอาคมกล่าวต่อว่า เพื่อให้โครงการเฟสแรกเดินหน้าได้เร็ว เบื้องต้นจะแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน คือ 1. จากสถานีบางซื่อ-ดอนเมือง-อยุธยา ระยะทางประมาณ 100 ก.ม. และ 2. สถานีลพบุรี-นครสวรรค์-พิษณุโลก ระยะทาง 318 ก.ม. เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ก่อนในเส้นทาง กทม.-อยุธยา โดยที่ไม่ต้องรองานก่อสร้างให้เสร็จทั้งเส้น

นอกจากนื้ ฝ่ายไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้แนะนำเรื่องแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีด้วย และขอให้ญี่ปุ่วางแนวทางการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้าง เฟส 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ 255 ก.ม. ด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน