สัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้น! สรท.เพิ่มเป้าส่งออกปีนี้บวก 6-7% ขณะที่ปัจจัยลบยังรุมจี้ภาครัฐแก้ไข – ราคาเหล็กทะยานซัดอุตฯรถยนต์

สัญญาณศก.โลกฟื้น – นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 6-7% จากเดิมที่คาดการณ์จะเติบโตที่ระดับ 3-4% โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา การขยายตัวของตัวเลขทางเศรษฐกิจ อาทิ ตัวเลขการว่างงานที่ลดลงจนถึงระดับก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ยอดค้าปลีกที่เพิ่มสูงขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน จีน การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) แข็งแกร่งมากในไตรมาสแรกของปีนี้ จากการบริโภคในประเทศที่กลับมาฟื้นตัวและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อภาคการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุด ที่ระดับค่าเฉลี่ย 55 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงในหลายประเทศทั่วโลก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการขยายตัวในระดับสูงของสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์และส่วนประกอบรวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ทำให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้สูงสุดในรอบ 28 เดือนนับจากเดือนพ.ย. 2561 และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รวดเร็วในปลายประเทศสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์การใช้น้ำมัน เป็นต้น

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง ความแออัดในท่าเรือแหลมฉบังที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้สภาพการจราจรภายในท่าติดขัดยาวนานส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการ และการระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งวัตถุดิบขาดแคลน โดยเฉพาะการขาดแคลนชิปซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในส่วนชิปควบคุมและประมวลผลชั้นสูง (Microcontroller) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ของรถยนต์ส่งผลให้ค่ายรถบางแห่งเริ่มประกาศชะลอการผลิตและส่งมอบรถในบางรุ่นออกไป และราคาเหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องด้วยการลดกำลังการผลิตราว 50% ของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและบรรจุภัณฑ์โลหะ เป็นต้น

สถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวในกลุ่ม Unskilled labor จากผลกระทบของโควิด-19 เป็นอุปสรรคต่อการเข้าออกของแรงงานต่างด้าว ซึ่งการขาดแคลนดังกล่าวเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องด้วยกิจกรรมการผลิตและการส่งออกหลายๆ อุตสาหกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหาร ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มเริ่มฟื้นตัวจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทำให้บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลง

สรท. จึงเสนอให้ภาครัฐ เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนโดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปีนี้ สรท. คาดว่าประเทศไทย ต้องนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาจำนวนทั้งสิ้น 1,865,248 TEUs ให้เพียงพอรองรับการส่งออกที่จะพลิกฟื้นกลับมา เร่งแก้ไขปัญหาความแออัดในท่าเรือแหลมฉบัง เร่งจัดหาแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบรองรับการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมซึ่งต้องการแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนคน ขอรัฐบาลพิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม โดยอาจใช้รูปแบบ ต่างๆ เช่น ขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา พม่า ลาว) ในประเทศมากขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องผ่านระบบออนไลน์มีการเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้รับบัตรชมพูหรือใบอนุญาตทำงาน เพิ่มรูปแบบการจ้างงานในลักษณะ Part Time Job ระยะเวลาการจ้างต้องไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานของสถานประกอบการจากเต็มเวลาเป็นจ้างแบบ Part-time ตั้งศูนย์บริหารจัดการงาน Part Time เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา และ 4 รักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้อยู่ระหว่าง 31-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน