นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยระบุว่า ที่ผ่านมาตัวเลขการลงทุนภาครัฐค่อนข้างต่ำมาจาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ 1. การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า และ 2. ไม่มีการลงทุนโครงการใหม่ โดยโครงการสุดท้ายที่รัฐบาลลงทุนคือการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรัฐบาลแก้ปัญหาโดยกำหนดให้ดึงงบประมาณคืนจากส่วนราชการที่ไม่ใช้เงินตามแผน ทำให้มีงบประมาณคืนกลับมาใช้ลงทุนใหม่เพิ่มเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท

โดยในปี 2561 กระทรวงคมนาคม กำหนดงบลงทุนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ไว้ทั้งสิ้น 309,607 ล้านบาท แบ่งเป็นทางบก 152,162 ล้านบาท, ทางราง 96,203 ล้านบาท, ทางน้ำ 7,323 ล้านบาท, และทางอากาศ 53,537 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 103 โครงการ ระหว่างปี 2560-2564 วงเงินรวมกว่า 745,710 ล้านบาท โดยจะปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภาให้กลายเป็นสนามบินนานาชาติที่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคน มากกว่าสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสแรกที่รองรับผู้โดยสารได้จำนวน 45 ล้านคน ซึ่งเมื่อวางระบบเชื่อมโยงกับสนามบินสุวรรณภูมิที่จะขยายศักยภาพให้รองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคน และสนามบินดอนเมือง อีก 30 ล้านคน

พร้อมทั้งขยายท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะทำให้กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่ออีกต่อไป แต่สนามบินอู่ตะเภาจะถูกยกระดับให้เป็นสนามบินที่ให้บริการทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ และยังจะมีโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค สอดรับกับการที่ไทยสามารถปลดธงแดงจาก ICAO ได้สำเร็จก่อนกำหนดเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา โดยการเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมไม่ใช่เพียงแค่ทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือ ผู้พิการด้วย

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของระบบตั๋วร่วม ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารใช้ตั๋วใบเดียวเดินทางไปได้ทุกทางนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาติดตั้งระบบคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้กลางปีหน้า ซึ่งทุกโครงการที่ดำเนินการนั้นจะเป็นพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน