นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบแนวทางและแผนงานการดำเนินการในปี 2561 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวทางการประเมินของธนาคารโลก เพื่อให้การจัดอันดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจของประเทศไทย จากที่ปี 2560 ธนาคารโลก จัดอันดับไทยจากอันดับอยู่ที่ 26 ขยับขึ้นมา 20 อันดับ จาก 190 ประเทศทั่วโลก สามารถรักษาคะแนนและอันดับเอาไว้ได้รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านต่างๆ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ

ทั้งนี้ มีเป้าหมายว่าการจัดอันดับในปีต่อไปจะได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น และมีอันดับที่ดีขึ้น รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่อันดับ Ease of Doing Business ของประเทศไทยจะขยับขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ของอาเซียนจากที่ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

สำหรับกรอบแนวทางที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงานก.พ.ร.) เสนอสำหรับการดำเนินการยกระดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมในปีงบประมาณ 2561 มีจำนวน 11 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ จะสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ เรื่องระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเป็นอัตราคงที่ และลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์

2. การขออนุญาตก่อสร้าง จะแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการขออนุญาตและการควบคุมการก่อสร้างอาคาร โดยใช้วิธีการตรวจสอบความเสี่ยงในการก่อสร้างอาคารเป็น 3 ช่วงเวลาคือก่อนดำเนินการก่อสร้าง ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และหลังดำเนินการก่อสร้าง จากปัจจุบันกำหนดการตรวจสอบการก่อสร้างไว้ 7 ครั้ง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกสบาย

3. เรื่องการขอใช้ไฟฟ้าจะขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบสายภายในเพิ่มเติม พร้อมปรับปรุงค่าธรรมเนียมการขอใช้ไฟฟ้าให้ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มจำนวนธนาคาร ตัวแทนที่เข้าร่วมรับชำระค่าธรรมเนียมการขอใช้ไฟฟ้า 4. การจดทะเบียนทรัพย์สิน จะเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตและแผนผังการใช้ที่ดิน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลรูปแปลงที่ดินกับข้อมูลของสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานครได้ เพื่อรองรับการจดทะเบียนออนไลน์ที่จะมีขึ้นในอนาคต 5. การได้รับสินเชื่อ จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจให้ดีขึ้นกว่าเดิม 6. การคุ้มครองผู้ลงทุน 7. การชำระภาษีโดยขยายฐานการชำระเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์(e-Payment)

8. การค้าระหว่างประเทศ จะดำเนินโครงการรายงานเรือเข้าและบัญชีสินค้าสำหรับเรือผ่าน National Single Window (NSW) และโครงการเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้าและแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านท่าเข้าเขตศุลกากรการท่าเรือฯผ่านระบบ NSW เพื่ออำนวยความสะดวกด้านเอกสาร ค่าใช้จ่ายและเวลา 9. การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน 10. การแก้ปัญหาการล้มละลาย และ 11. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่จะต้องสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

“อันดับของไทยดีขึ้นกว่าเดิมพอสมควรต้องเร่งดำเนินการ เพราะเวิลด์แบงก์จะมาตรวจรอบต่อไปในเดือนพ.ค. 2561 และในเดือนมิ.ย.จะรวบรวมความคืบหน้าแล้วไปให้คะแนน และประกาศผลในเดือนต.ค. 2561 ถ้าต้องการจะเห็นผลที่แท้จริงต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้จนถึงเดือนพ.ค.ปีหน้า โดยเฉพาะการจัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ในขั้นตอนต่างๆ จะได้คะแนนก็ต่อเมื่อมีผู้มาใช้ในระบบเกิน 50% โดยในส่วนของการแก้ไขกฎระเบียบบางอย่างที่มีความจำเป็นหากติดขัดก็จะขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ช่วยให้เกิดความรวดเร็วเหมือนที่ผ่านมา”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน