‘สุริยะ’ เร่งประเมินโรงงานแออัด-คนงานมากกว่า 200 คน เข้มชี้เป้ากลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ขีดเส้นตายสิ้นเดือนมิ.ย.นี้

สุริยะประเมินโรงงานแออัด – นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งประชาสัมพันธ์พร้อมขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ประเมินตนเองผ่านแบบประเมินตนเอง Thai Stop Covid plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิ.ย. 2564 เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงงาน และลดความรุนแรงการระบาดของ โควิด-19 โดยควบคุมไม่ให้แพร่กระจายสู่ชุมชนในวงกว้าง

สำหรับแนวทางการปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ ผู้ประกอบการต้องประเมินตนเองอย่างน้อยทุก 2 สัปดาห์ ขณะที่พนักงานก็ต้องประเมินตนเอง ผ่านแพลตฟอร์ม Thai Save Thai ก่อนเข้าโรงงาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีการแพร่เชื้อในสถานประกอบการ

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดี กรอ. กล่าวว่า กรอ. ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการคัดเลือกโรงงานเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีจำนวนคนงานมากกว่า 200 คน ซึ่งมีจำนวน 278 โรงงาน จำแนกเป็นโรงงานที่มีคนงาน 200-500 คน จำนวน 206 โรง โรงงานที่มีคนงาน 500-1,000 คน จำนวน 40 โรง และโรงงานที่มีคนงานมากกว่า 1,000 คน จำนวน 32 โรง เป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารหรือแปรรูปอาหาร โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงงานอื่นๆ

หลังวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มเป้าหมายแรกที่ กรอ. ร่วมกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบ จำนวน 40 โรงงาน โดยคัดเลือกจากโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง และโรงงานที่มีความแออัดในพื้นที่ปฏิบัติงานก่อน โดยเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหาร หรือการแปรรูปอาหารทุกขนาด จำนวน 12 โรง และโรงงานที่มีความแออัด เนื่องจากมีจำนวนคนงานมากกว่า 1,000 คน จำนวน 28 โรง

นอกจากนี้ กรอ. ยังจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติแผนรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับสถานประกอบกิจการ (Business Continuity Plan : BCP) เพื่อให้แต่ละโรงงานเตรียมรับมือและเตรียมความพร้อมในการประคองกิจการให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้แม้ในยามวิกฤตหรือฉุกเฉิน โดยการกำหนดแนวทาง ดังนี้ 1. จัดตั้งทีมบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ โดยมอบหมายให้ เจ้าหน้าที่อย่างน้อย 1 คน เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการความต่อเนื่องของธุรกิจ

2. ระบุวิกฤตหรือเหตุฉุกเฉินและผลกระทบต่อสถานประกอบกิจการ อย่างน้อย 5 มิติ อาทิ อาคารและสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยีและข้อมูลสำคัญ บุคลากรและทรัพยากรทางการเงิน และคู่ค้า/ ผู้ให้บริการ/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3. วางกลยุทธ์ความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อเป็นแนวทางจัดหาและบริหารทรัพยากรให้มีความพร้อมเมื่อเกิดวิกฤต

และ 4. ฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแผนบริหารความต่อเนื่อง โดยโรงงานอุตสาหกรรมควรฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 อยู่เสมอ รวมถึงปรับปรุงแผนการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ ให้ทันสมัยและสามารถรองรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน