พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือทีเอฟเอฟ) วงเงิน 3,0437 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 19 กม. ว่า กทพ. จะเสนอร่างหนังสือชี้ชวนลงทุนโครงการให้บอร์ด กทพ. พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 13 ธ.ค. เพื่อนำกองทุนฯ ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในเดือนธ.ค. คาดว่าจะเปิดขายกองทุนได้ในช่วงเดือนม.ค. 2561 โดยจะเน้นขายให้ประชาชนทั่วไป เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้คนไทยเข้ามาร่วมถือหุ้น เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ โดยขณะนี้มีประชาชนแสดงความสนใจจำนวนมาก

สำหรับงานก่อสร้างงานโยธา ระยะทาง 19 ก.ม. จะแบ่งออกเป็น 3 สัญญา ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์ คาดว่าจะประกาศและเปิดประมูลได้ในเดือนม.ค.-ก.พ. 2561 เปิดให้เอกชนสนใจยื่นข้อเสนอเดือนมี.ค. และได้ตัวผู้ชนะการประมูลไม่เกินครึ่งปีแรกของปี 2561 โดยตั้งเป้าเริ่มงานก่อสร้างปี 2562 ใช้เวลา 4 ปี ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2565

พล.อ.วิวรรธน์กล่าวถึงโครงการก่อสร้างทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ ว่า กพท. จะขอยุติโครงการดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ออกมาคัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าความสูงของทางด่วนจะบดบังทัศนียภาพของเมือง รวมทั้งจากการลงพื้นที่พบว่าเส้นทางที่ศึกษาไว้ไม่สามารถเชื่อมโยงเข้าถนนโครงข่ายเดิมได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ได้

ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างทางเชื่อมจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครไปยังทางพิเศษศรีรัชด่านทิศเหนือ (มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ) ระยะทางประมาณ 360 เมตร เพื่อแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่นนั้น คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เดือนส.ค. 2561

พล.อ.วิวรรธน์กล่าวถึงการปรับค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 (เฉลิมมหานคร) และขั้นที่ 2 (ศรีรัช) ซึ่งจะครบกำหนดในเกือนก.ย. 2561 ว่า อยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งจะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำมาก อาจจะส่งผลดีต่อการพิจารณาเรื่องการปรับค่าผ่านทาง คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จและได้ข้อสรุปเดือนมี.ค. 2561

สำหรับทางด่วนกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 4 กิโลเมตร วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินก่อสร้างกว่า 8,000 ล้านบาท และวงเงินเวนคืนกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้วและรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบ ซึ่งล่าสุดก็ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว แต่จะต้องเข้าคณะกรรมการอีไอเอชุดใหญ่อีก หากผ่านความเห็นชอบจะเสนอให้คณะกรรมการพีพีพีพิจารณาอนุมัติต่อไป

ส่วนโครงการทางพิเศษสายนฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี 104.7 กม. ที่จะก่อสร้างเชื่อมต่อทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางจตุโชติ -ลำลูกกา-นครนายก-หินกอง นั้น อยู่ระหว่างจัดทำอีเอไอ คาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เชื่อว่าจะใช้เป็นทางลัด แก้ปัญหารถติด เส้นทางรังสิต-นครนายกรถ โดยได้เร่งรัดให้ดำเนินโครงการให้เร็วที่สุด เพราะหากทำช้าโอกาสจะเกิดก็น้อยลง เพราะที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับชุมชนก็จะหนาแน่นมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน