น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า การส่งออกเดือนต.ค. 2560 มีมูลค่า 20,083 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.1% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้การส่งออก 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 195,518 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ เป็นผลจากการขยายตัวดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั่วโลก และสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย มีการนำเข้าสินค้าไทยขยายตัวทุกตลาด อันดับ 1 คือ จีน มีมูลค่านำเข้า 23,938 ล้านเหรียญ เติบโต 26.5% อันดับ 2 สหรัฐอเมริกา มูลค่านำเข้า 21,989 เติบโต 7.9% อันดับ 3 สหภาพยุโรป 15 ประเทศ มูลค่า 17,918 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.5% เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ส่งออกไปได้สูงสุด คือรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ มูลค่า 22,78 ล้านเหรียญ ขยายตัว 0.7% คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ส่วนประกอบ มูลค่า 15,062 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.7% ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 8,405 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 54.8% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในขณะนี้ คือค่าเงินบาทที่ผันผวนและอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ผู้ส่งออกสูญเสียขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เพราะขณะนี้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมาก ดังนั้นธปท. ควรใช้เครื่องมือในการสกัดไม่ให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมากเกินไป เพราะหากเทียบเป็นเงินบาทส่งออกเดือนต.ค.มีมูลค่า 659,517 ล้านบาท ขยายตัว 7.6% ส่วน 10 เดือนแรกมูลค่า 6,660,680 ล้านบาท ขยายตัว 6.5% เท่านั้น และทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวเพียง 4% เท่านั้น หรือเฉลี่ย 7.88 ล้านล้านบาท หรือทำให้เงินส่งออกหายไปในรูปของเงินบาท 354,982 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานทั้งปีในรูปแบบของเงินดอลาร์จะขยายตัวที่ 8.5% มูลค่า 232,718 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ซึ่งก็หวังว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาดูแลอัตราค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากกว่านี้ เพราะขณะนี้เงินบาทแข็งค่าสูงขึ้นกว่าอัตราของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกของไทย ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ปากีสถาน เป็นต้น และส่งผลให้ผู้ส่งออกทำกำไรลดลง และจะส่งผลต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่อยู่ในระบบไปด้วย”

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงการแก้ไขพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่ต้องให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจของผู้ประกอบการโดยให้ภาคเอกชนเข้าไปมาส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เรื่องมาตรการปฎิรูปภาษีของสหรัฐและการปรับอัตรราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ผลกระทบราคาน้ำมันที่ผันผวนจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง การขาดแคลนแรงงานเฉพาะทาง เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน