นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการพบปะและประชุมร่วมกับแกนนำและตัวแทนชาวสวนยางจากสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) ซึ่งมีจำนวนกว่า 30 คน รวมถึงมีนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมด้วย ที่กระทรวงเกษตรฯ ว่า ทางตัวแทนชาวสวนยางมีข้อเสนอใหม่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ขอให้มีตัวแทนชาวสวนยางชายขอบ ซึ่งเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย มีส่วนร่วมกับการกำกับดูแลยาง ตรงนี้ทางกระทรวง จะรับต่อท่อว่าจะเป็นอย่างไรได้บ้าง ทำได้มากน้อยแค่ไหน ในการร่วมกับคณะกรรมการด้านยางระดับสูงขึ้นไป เช่น กยท. และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

2. ขอให้ตัวแทนชาวสวนยางเข้าไปมีส่วนร่วมเสนอกลยุทธ์ ในยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ของ กยท. เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์ ทำได้จริง และเป็นประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย และ 3. ขอให้มีการปรับระเบียบภายใน กยท. เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49 (5) ซึ่งระบุว่าให้นำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกยางพารา (เงินเซส) ไม่เกิน 7% เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเสนอแก้ระเบียบนี้ ให้เกษตรกรชวนยางที่สมัครใจสามารถจ่ายเงินเป็นสวัสดิการแก่ตัวเองได้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการสงเคราะห์

“ทั้ง 3 ประเด็นนี้ กยท.รับไปดูและจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กยท. ด้วย และต้องไปดูว่าจะสามารถทำได้หรือไม่อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ที่ประชุมครั้งนี้ได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งมีตัวแทนกระทรวงเกษตรฯ ชาวสวนยาง และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมด้วย โดยได้เตรียมแต่งตั้ง นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ที่กระทรวงจะเสนอชื่อเป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ในเร็วๆ นี้ เป็นประธานคณะทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อร่วมแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และดูแลแนวทางที่ทางเกษตรกรเสนอมาทั้งหมด รวมถึงให้ทบทวนงานวิจัยและพัฒนาให้เกิดความชัดเจนที่จะพัฒนาชาวสวนยางรายย่อยให้เกิดความยั่งยืน”นายลักษณ์กล่าว

นายลักษณ์ กล่าวถึงข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่าการเข้ามารับตำแหน่งรมช.เกษตร รู้ปัญหาเกี่ยวกับราคายางร่วงหรือยังว่าเกิดจากปัจจัยภายนอก ภายในประเทศ หรือปัญหาการเมือง ว่า เรื่องของปัญหาราคายางพาราขณะนี้ขออนุญาตไม่ขอตอบ เพราะไม่อยากให้ยางพาราเป็นพืชทางการเมือง อยากให้ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนว่าในอนาคตราคายางพาราจะถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) หรือไม่ ก็ต้องรอดูก่อน

นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า ทางตัวแทนชาวสวนยางมีข้อเสนออีก ซึ่งเป็นเรื่องดีๆ ทั้งสิ้น ได้แก่ ต้องการปฏิรูปเกษตรชาวสวนยาง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ พอเพียง และลดการช่วยเหลือจากภาครัฐ, ปฏิรูปสวนยาง ด้วยการเพิ่มพืชอื่นๆ เข้าในพื้นที่ปลูกยาง เพื่อลดการพึ่งพาจากยางพาราเพียงอย่างเดียว, ปฏิรูปการผลิต และการแปรรูปยาง ให้รายย่อยสามารถรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์ชาวสวนยาง เพื่อให้สามารถรวบรวบแปรรูปยางสร้างมูลค่าเพิ่มและทำการตลาดได้ และปฏิรูปการตลาด ด้วยการให้รัฐเขามาสนับสนุนชาวสวนยางในการลดพื้นที่ปลูกยางพาราลง ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ดึงดูด และส่งเสริมให้มีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน