นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ย. 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 78 จากเดือนต.ค. 2560 ซึ่งอยู่ที่ 76.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.8 จาก 52 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 88.8 จาก 87.2 ซึ่งสูงสุดในรอบ 55 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2556 สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 65.2 จาก 64.1 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 72.7 จาก 71.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 96.1 จาก 94.4 ซึ่งสูงสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.พ. 2558 สะท้อนผู้บริโภคเห็นว่ารายได้ของตนใน 6 เดือนข้างหน้าจะปรับเข้าสู่ระดับปกติได้ที่ระดับ 100 ซึ่งคาดว่าจะเป็นในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า ตามแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น และไม่มีปัจจัยลบเพิ่มเข้ามา

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีทุกตัวที่เพิ่มขึ้น ได้รับอานิสงส์สำคัญจากมาตรการช็อปช่วยชาติ ที่หมุนเศรษฐกิจให้คึกคัก และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคนฐานรากได้ประโยชน์ ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยรวมถึงการส่งออกดีเกินคาด ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ดีขึ้นเป็นลำดับและเป็นขาขึ้น และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายเน้นเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มรายได้ให้ประชาชนที่รายได้ไม่สูง และแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรดึงราคาให้ขึ้นได้ จะส่งผลให้บรรยากาศจับจ่ายช่วงปีใหม่คึกคัก เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยภาคเอกชนสมาชิกหอการค้าไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาส 2 ปีหน้า

“อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนียังไม่เข้าสู่ภาวะปกติที่ ระดับ 100 สะท้อนประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย แต่ก็คลายความกังวลลง ทางศูนย์พยากรณ์จึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้เป็น 4% ซึ่งเป็นไปได้สูง จากเดิมคาดไว้ที่ 3.9% เนื่องจากมีเงินเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 นี้ ทั้งเงินจากมาตรการช็อปช่วยชาติ ที่จะมีเงินสะพัดในระบบ 1.5 หมื่นล้านบาท และเงินจากบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยของแต่ละเดือนในไตรมาสสุดท้ายนี้รวม 1.5 หมื่นล้านบาท รวมแล้วมี 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มอีก 0.2-0.3% คาดทำให้ในไตรมาส 4 ขยายตัวเป็น 4.6-4.7% จากเดิมที่ 4.5% รวมกับส่งออกปีนี้คาดขยายตัวที่ 8.5%”นายธนวรรธน์กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจในปีหน้า มีโอกาสขยายตัวแตะ 4.5% จากที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินอัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมากรวมประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากทั้งการส่งออก คาดขยายตัว 5% และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และหากภาครัฐขับเคลื่อนการลงทุนและใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การเคลียร์งบค้างท่อลงสู่ท้องถิ่น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการใช้จ่ายจากกิจกรรมทางการเมืองรับเลือกตั้งในปีหน้า

ส่วนปัจจัยที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ส่งออกยังมีความกังวล คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบประเทศคู่แข่งในภูมิภาค อยู่ที่ระดับ 32.5-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งผู้ส่งออกมองแข็งค่าเกินไป กระทบกับการส่งออก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเหมาะสมการซื้อรถยนต์คันใหม่ในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 80.5 จากเดือนต.ค. 2560 อยู่ที่ระดับ 77 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 60.7 จาก 58 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 64.5 จาก 60.9 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 44 จาก 42

ส่วนดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 80.5 จาก 78.4 ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 69.9 จาก 67.4 ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 66.7 จาก 64 และดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.8 จาก 87.7

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน