รายงานพิเศษ : รอไม่ไหว-‘เอกชน’ผนึกกำลังทุ่ม 4 หมื่นล้าน-กู้ชีวิต‘เอสเอ็มอี’

รอไม่ไหว-‘เอกชน’ผนึกกำลังทุ่ม 4 หมื่นล้าน-กู้ชีวิต‘เอสเอ็มอี’ : หนักหนาสาหัสเหลือเกินสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะพวกสายป่านสั้นอย่างกลุ่มเอสเอ็มอีในภาค ธุรกิจต่างๆ

เพราะลำพังจะหวังให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แม้จะมีหลายมาตรการออกมา แต่ยังไม่เพียงพอ หรือมีเงื่อนไขที่ทำให้เอสเอ็มอีจำนวนมากที่ไม่มีหลักทรัพย์ หรือหลักประกันเพียงพอจะเข้าถึงได้

สะท้อนจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 78.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563

การสำรวจผู้ประกอบการ 1,395 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พบว่าปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด 75.8% เศรษฐกิจในประเทศ 74% สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 54% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 42.2%

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ คือการที่ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด

“การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนส.ค. ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่างจากก่อนล็อกดาวน์ช่วงเดือนก.ค. แต่ยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลง จากการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ซึ่งภาคเอกชนหวังว่าการล็อกดาวน์จะไม่เกิดขึ้นอีก”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว

ด้วยเหตุนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดย ‘นายสุพันธุ์ มงคลสุธี’ ประธาน ร่วมกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และธนาคารอีก 3 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

รอไม่ไหว-‘เอกชน’ผนึกกำลังทุ่ม 4 หมื่นล้าน-กู้ชีวิต‘เอสเอ็มอี’

สุพันธุ์ มงคลสุธี

ออกมาตรการช่วยเหลือในเรื่องเงินทุนเพื่อพยุงธุรกิจ ในรูปแบบสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ หรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า

วงเงินที่เตรียมไว้จำนวน 40,000 ล้านบาท

โดยให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตัวเองผ่านกลไกของธนาคาร ทั้งการส่งออกและตลาดในประเทศ

ประกอบด้วยบริษัทในกลุ่มสิทธิผล, บมจ.ซินเน็ค (ประเทศไทย), บมจ.อีโนเวรับเบอร์ (ประเทศไทย), กลุ่มบริษัทพี.เอฟ.พี., บจก.เอส.พี.เอส. โคออพเพอเรท, บมจ.พลังงานบริสุทธิ์, บจก.นิภาเทคโนโลยี, บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก, บจก.เศรษฐ์ อินเตอร์เทรด

กลุ่มธุรกิจในกลุ่มยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์, คลัสเตอร์ก่อสร้าง, กลุ่มสิ่งทอ, กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ
ตั้งเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์โดยเฉพาะ เอสเอ็มอีให้มากที่สุด

เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับ ผู้ประกอบการในซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม ผ่านบริการด้านการเงินของทั้ง 3 ธนาคาร ได้มากกว่า 10,000 ราย

ขณะที่ นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) กล่าวว่า สินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ หรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้าเป็นรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์วิกฤตในช่วงนี้ ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก

รอไม่ไหว-‘เอกชน’ผนึกกำลังทุ่ม 4 หมื่นล้าน-กู้ชีวิต‘เอสเอ็มอี’

ปรีชา ส่งวัฒนา

โดยเอกสารใบแจ้งหนี้ (Invoice) ที่เกิดจากการสั่งซื้อของผู้ค้ารายใหญ่แต่ละรายเป็นเครื่องการันตีแทนหลักทรัพย์ ค้ำประกันที่แต่ละธนาคารเชื่อถือได้

รูปแบบการให้สินเชื่อของทั้ง 3 ธนาคารแตกต่างกันไป เช่น ธุรกิจที่ผู้ซื้อมีการส่งออกสามารถใช้บริการจากธนาคารเพื่อการส่งออกฯ

หรือต้องการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ โดยใช้แหล่งเงินทุนของผู้ค้ารายใหญ่เป็นหลัก โปรแกรม Payzave ของธนาคารไทยพาณิชย์

หรือต้องการซื้อขายใบแจ้งหนี้ในรูปแบบปกติ ก็ใช้โปรแกรมของทางกรุงศรีฯ ได้เลย ผู้ประกอบการเลือกได้ตามที่เหมาะสมของแต่ละธุรกิจ

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า PayZave เป็นแพลตฟอร์มดิจิตอลที่เปิดให้คู่ค้าซัพพลายเชนดำเนินการรับ-จ่าย ค่าสินค้าระหว่างกันทันทีโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอม จากปกติมีระยะเวลา 45-60 วัน

รอไม่ไหว-‘เอกชน’ผนึกกำลังทุ่ม 4 หมื่นล้าน-กู้ชีวิต‘เอสเอ็มอี’

พิกุล ศรีมหันต์

ช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า

กลุ่มผู้ซื้อที่สมัครเข้าใช้แพลตฟอร์ม PayZave ในโครงการนี้ สามารถใช้บริการฟรีโดยไม่มีค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 6 เดือน

น.ส.ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่าสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) ที่ให้วงเงินสอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมการขายสินค้าจริง พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย OD ทั่วไป และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

รอไม่ไหว-‘เอกชน’ผนึกกำลังทุ่ม 4 หมื่นล้าน-กู้ชีวิต‘เอสเอ็มอี’

ดวงกลม ลิมป์พวงทิพย์

เบิกใช้สะดวกรวดเร็วแบบเรียลไทม์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Krungsri Digital Supply Chain Financing Platform

น.ส.ดรัสวันต์ ชูวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกฯ กล่าวว่าสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร วงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

รอไม่ไหว-‘เอกชน’ผนึกกำลังทุ่ม 4 หมื่นล้าน-กู้ชีวิต‘เอสเอ็มอี’

ดรัสวันต์ ชูวงษ์

เพียงนำใบแจ้งหนี้มายื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของผู้ค้ารายใหญ่ผ่านระบบออนไลน์ ฟรีค่าธรรมเนียม 12 เดือน และฟรีประกันการส่งออกที่คุ้มครองการส่งออกไปยังผู้ซื้อ 1 ราย วงเงินสูงสุด 300,000 บาท

พร้อมกันนี้กลุ่มอุตสาหกรรมยังเรียกร้องไปยังรัฐบาล ให้มาเหลียวแลการควบคุมแพร่ระบาดโควิดในโรงงานด้วย จากปัจจุบันโรงงานต่างๆ ต้องรับภาระกันหลังแอ่น

นายสุพันธุ์ระบุว่าขอให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งพื้นที่กักตัวและโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจทดสอบหาเชื้อโควิดด้วยตัวเองในสถานประกอบการทุก 14 วัน

ควบคู่กับขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 รวมทั้งจัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ให้แก่แรงงานที่สถานประกอบการ และขอให้ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการ

รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ส่วน น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่าขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1,000 บาท/คน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) ในช่วงตั้งต้นของการดำเนินมาตรการ

รอไม่ไหว-‘เอกชน’ผนึกกำลังทุ่ม 4 หมื่นล้าน-กู้ชีวิต‘เอสเอ็มอี’

กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์

สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ทางสาธารณสุข อาทิ ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีพนักงานบางส่วนติดเชื้อ เพราะต้องตรวจติดตามพนักงานอื่นที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นระยะอย่างน้อย 7-14 วันต่อครั้ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

รวมถึงขอให้มีการควบคุมราคาชุดตรวจ ATK ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม เร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้ครอบคลุมโดยเร็ว

เพื่อช่วยให้แรงงานลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและมีรายได้ต่อเนื่อง จะช่วยรักษากำลังซื้อของครัวเรือนทั่วประเทศและพยุงเศรษฐกิจในประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไป

ถือเป็นความเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งของภาคเอกชน ที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะแก้ปัญหากันเองโดยไม่หวังถึงรัฐบาลมากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน