ครม.เคาะแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 65 วงเงินกู้ 1.34 ล้านล้านบาท แก้โควิด กระตุ้นเศรษฐกิจ คาดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สิ้นเดือน ก.ย. 2565 อยู่ที่ 62.69%

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ได้อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว โดยแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจัยในการกำหนดกรอบในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะได้พิจารณาถึงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพคล่องของตลาดการเงินภายในประเทศเพื่อรองรับการกู้เงินตามแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565 รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium-Term Debt Management Strategy: MTDS) สำหรับปีงบประมาณ 2565 – 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกู้เงินที่เพิ่มสูงขึ้นของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และสภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง เพื่อกำกับการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม

สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 คือ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1.34 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 1.2 ล้านล้านบาท ได้แก่ รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง วงเงินรวม 7.36 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 7 แสนล้านบาท และ 2.เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ตามมาตรา 22 และ 23 ของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ วงเงินรวม 3.62 หมื่นล้านบาท

และรัฐบาลกู้มาเพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้บรรจุวงเงินดังกล่าวในแผนบริหารหนี้ ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท และมีผลการกู้เงิน จำนวน 1.44 แสนล้านบาท คงเหลือวงเงิน 5.83 พันล้านบาท จึงนำวงเงินคงเหลือมาบรรจุในปีงบประมาณ 2565 รวมเป็นวงเงิน 3.55 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ วงเงินรวม 6.63 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กู้ต่อ (โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) วงเงินรวม 1.08 หมื่นล้านบาท 2.การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อ (โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 สายทาง) วงเงินรวม 5.54 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลกู้มาเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ มีรัฐวิสาหกิจ 16 แห่ง วงเงินรวม 1.41 แสนล้านบาท ประกอบด้วย แผนเงินกู้เพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา มีรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง วงเงินรวม 6.1 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการจัดหารถจักรพร้อมอะไหล่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า โครงการขยายเขตไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น และแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป มีรัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง วงเงินรวม 8 หมื่นล้านบาท และแผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ วงเงิน 350 ล้านบาท

2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย 1.แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล วงเงิน 1.37 ล้านล้านบาท และ 2.แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 1.34 แสนล้านบาท

3. แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 3.39 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่ายปีงบ2565 วงเงิน 2.97 แสนล้านบาท และ 2. แผนการชำระหนี้หน่วยงานของรัฐจากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงิน 4.16 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว คลังคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565 จะอยู่ที่ 62.69% คลังประเมินว่าการลงทุนในแผนงาน โครงการต่างๆ ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะจะช่วยเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน