กรมชลฯ เร่งระบายน้ำเข้า 10 ทุ่งแก้มลิง ลดผลกระทบน้ำหลาก-ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด
กรมชลฯ เร่งระบายน้ำ – นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศของปี 2564 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 9% โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางสูงกว่าค่าเฉลี่ย 9% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1% โดยเมื่อวันที่ 24-26 ก.ย. 2564 พายุดีเปรสชั่น เตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ส่วนใหญ่จะตกบริเวณด้านท้ายเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้เกิดน้ำหลากและมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ จากช่วงนี้จะต้องรอลุ้นพายุลูกใหม่ว่าที่กำลังอยู่ในฟิลิปปินส์ ว่าจะก่อตัวละขึ้นอ่างตังเกี๋ย ประมาณ ช่วงวันที่ 11-12 ต.ค .และจะทำให้มีฝนตกหนัก แต่ไม่มากเหมือนเตี้ยนหมู่ ในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก คือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ขึ้นมาจนถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นช่วงนี้ก่อนที่จะมีฝนตกอีกครั้งในช่วงประมาณ วันที่ 11 ต.ค.นั้น กรมชลประทาน ต้องเร่งระบายน้ำลงอ่าวไทย โดยการจัดจราจรน้ำให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
ช่วงนี้ก่อนที่จะมีฝนตกอีกครั้งหลังวันที่ 10 ต.ค. กรมชลประทานจะเร่งบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งจากกรณี เตี้ยนหมู่ ที่มีฝนตกหนักเมื่อ 24-26 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงล้นน้ำท่วมจ.สุโขทัย กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุโขทัย และลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม้ปริมาณน้ำได้ลดลงแล้ว แต่ยังมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้ต้องผันน้ำเข้าคลองทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 376 ลบ.ม./วินาที แบ่งเป็น ฝั่งตะวันตก 331 ลบ.ม./วินาที และฝั่งตะวันออก 45 ลบ.ม./วินาที
เมื่อ 4 ต.ค. 2564 มีการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,771 ลบ.ม./วินาที และที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในอัตรา 3,091 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ความสามารถรับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ให้ไหลมาสู่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่เกิน 3,200 ลบ.ม./วินาที โดยจะไม่ส่งผลกระทบกับกรุงเทพฯ
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสักที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องระบายน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำที่เกินระดับเก็บกักของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปัจจุบัน ณ 4 ต.ค. 2564 มีการระบายลงสู่ด้านท้ายในอัตรา 1,133 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำป่าสัก โดยการผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.)พระนารายณ์ ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์คลองบางขนาก และคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อสูบออกแม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทยตามลำดับ ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก และลดผลกระทบบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และอ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย
ทั้งนี้ กรมชลประทาน นอกจากจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ และรับน้ำเข้าคลองทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังได้ใช้ทุ่งรับน้ำบริเวณตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยา 10 ทุ่ง รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ช่วยลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง รวมไปถึงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2564 มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วรวม 878 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นทุ่งฝั่งตะวันออก 387 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ ทุ่งเชียงราก 21 ล้านลบ.ม. ทุ่งท่าวุ้ง 90 ล้านลบ.ม.
ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก 123 ล้านลบ.ม. ทุ่งบางกุ่ม 131 ล้านลบ.ม. ทุ่งบางกุ้ง 22 ล้านลบ.ม. ด้านทุ่งฝั่งตะวันตกรับน้ำไปแล้วรวม 491 ล้านลบ.ม. ได้แก่ ทุ่งบางบาล-บ้านแพน 50 ล้านลบ.ม. ทุ่งป่าโมก 49 ล้านลบ.ม. ทุ่งผักไห่ 200 ล้านลบ.ม. ทุ่งเจ้าเจ็ด 45 ล้านลบ.ม. และ ทุ่งโพธิ์พระยา 147 ล้านลบ.ม. คงเหลือพื้นที่ที่สามารถเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 590 ล้านลบ.ม.
นอกจากนี้ ในพื้นที่ตอนล่าง กรมชลประทาน ได้ใช้โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ถือว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้เป็นอย่างมาก