นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.ย. 2564 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 1.68% และในช่วง 9 เดือนแรกของปีขยายตัว 0.83% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสิ้นสุดลงของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา และระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูงต่อเนื่อง โดยน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงถึง 32.44% และราคาผักสดเพิ่มขึ้น 4.13% จากความเสียหายหลังน้ำท่วม

ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเงินเฟ้อในเดือนนี้ขณะที่สินค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ ยังเคลื่อนไหวเป็นปกติและค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นสินค้ากลุ่มอาหารสดที่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างผันผวน แต่ส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่าปีก่อน โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผักสดและผลไม้สด ยกเว้น ไข่ไก่ที่ยังมีราคาสูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมากแต่แนวโน้มราคาเริ่มลดลง ทั้งนี้ ในเดือนก.ย. มีสินค้าราคาสูงขึ้น 204 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 69 รายการ และ ลดลง 157 รายการ ส่วนใหญ่ราคาเพิ่มในกลุ่มไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มเติม จะมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยบวก 1.4-1.8% โดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มราคาน้ำมันยังอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราเพิ่มที่น้อยกว่าช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามลำดับ และแนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง

อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดอาหารสดบางชนิด โดยเฉพาะ ข้าว ผักสดและผลไม้สด ยังคงมีแนวโน้มต่ำกว่า ปีก่อน และมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ ขณะที่สถานการณ์โควิดยังคงเป็นความเสี่ยงที่เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าระวังและส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยยสำคัญ

ในขณะที่แนวโน้มของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นทำให้ สนค. ปรับสมมติฐานการคำนวณอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ใหม่และปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อใหม่อยู่ในกรอบ 0.8-1.2% และค่ากลาง 1.0-1.2% จากเดิม 0.7-1.7%

โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวสูงขึ้นอยู่ในกรอบประมาณ 1.4-1.8% ตามปัจจัยที่มีผลกระทบทั้งการขึ้นภาษีบุหรี่ เทศกาลกินเจ ปัญหาน้ำท่วมและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลทำให้สินค้านำเข้าราคาสูง และจากสมมุติฐานต่อเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลง โดยอ้างอิงจีดีพีทั้งปีที่โต 0.7-1.2% น้ำมันโลก (ดูไบ) เฉลี่ยทั้งปี 65-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทเฉลี่ย 31.50-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ซึ่งอัตราเงินเฟ้อหากเทียบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มในอัตราใกล้เคียงกัน ถือว่ายังไม่ผิดปกติ และเป็นไปในทิศทางกำลังซื้อที่แท้จริง จากนี้เงินเฟ้อมีแนวโน้มขาขึ้น หลังจากคลายล็อก เปิดประเทศ ซึ่งจะมีความคึกคักในการจัดกิจกรรม กระตุ้นใช้จ่ายและเศรษฐกิจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน