นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ธนาคารโลก หรือ เวิลด์แบงก์ ได้สนับสนุนนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาล ซึ่งไทยมั่นใจว่าหากมีการนำโครงการระยะสวัสดิการฯระยะสองออกมาใช้เมื่อใด จะทำให้คนไทยหลุดพ้นความยากจนหมดทั้งประเทศ และก้าวไปสู่กลุ่มระดับชั้นกลาง ตามกรอบของธนาคารโลกได้แน่นอน

ทั้งนี้ ตามกรอบของธนาคารโลกระบุว่านิยามคนยากจนไว้ 3 ระดับ โดย 2 กลุ่มแรกคือ กลุ่มยากจนสุดๆ มีรายได้ต่ำกว่า 24 บาทต่อวัน และกลุ่มยากจนเล็กน้อยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 24-38 บาทต่อวัน ถึงวันนี้ได้หมดไปจากประเทศแล้ว เหลือแค่กลุ่มกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะกลับไปยากจนที่ยังเหลืออยู่ แต่มั่นใจว่าเมื่อรัฐบาลออกมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐระยะสอง ที่เน้นการสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน จะทำให้คนจนหมดประเทศอย่างแน่นอน ส่วนอีก 2 กลุ่ม ที่มีรายได้เกิน 30,000 บาทต่อปี คือ กลุ่มที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และกลุ่มคนชนชั้นกลางคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เข้าข่ายเป็นคนยากจนแล้วตามนิยามของธนาคารโลก

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีแนวทางปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ คือ มีการให้โอกาสด้านเศรษฐกิจแก่ผู้มีรายได้น้อย ทั้งในด้านการศึกษาและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการสนับสนุนระบบการดูแลด้านสังคม สาธารณสุข ประกันสังคม และการส่งเสริมการออม ตลอดจนการใช้เครื่องมือทางภาษีและการเงินเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐระยะสองว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเร่งสรุปแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนเพื่อเสนอให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง รับทราบให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ ตามกรอบที่รมว.คลังสั่งไว้จะต้องเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และหากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขมาก คาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน ให้ครม.พิจารณา ได้ในการประชุมสัปดาห์หน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่

“ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เดินสายพบพบบริหารระดับสูง และปลัดในหลายกระทรวง เพื่อชี้แจงแนวทางการทำบัตรสวัสดิการเฟสสอง รวมถึงรับฟังข้อคิดเห็น ตลอดจนขอความร่วมมือในการจัดทำทีมแก้ปัญหาความยากจน หรือหมอแก้จน ก่อนนำไปปฏิบัติใช้จริงในปีหน้า โดยจะยึดแนวทางการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ และวิเคราะห์แก้ปัญหาแก่ผู้มีรายได้น้อยเป็นรายครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ซึ่งมีประมาณ 5 ล้านคน จะได้รับการอบรมสร้างอาชีพก่อน”

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะสองจะเน้นส่งเสริมใน 4 มิติเช่นเดิม ได้แก่ การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางการเงิน, การส่งเสริมการศึกษา และการฝึกอบรมอาชีพ การเพิ่มโอกาสในการทำงาน ทั้งในส่วนของมีงานทำ และการเป็นเจ้าของกิจการ และสุดท้ายการส่งเสริมการมีปัจจัย 4 เป็นของตัวเอง อาทิ ที่อยู่อาศัย และทรัพย์สินต่างๆ ที่จำเป็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน