นายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมาบอร์ด รฟม. มีมติเห็นชอบรางานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พีพีพี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ วงเงิน 6.1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้เป็นแผนสำรองกรณีที่การเจรจาโอน หนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 เส้นทางให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไม่ประสบความสำเร็จ ตามติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เนื่องจากการเจรจามีความล่าช้าและยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทำให้กทม. ไม่สามารถเปิดให้บริการเดินรถสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการให้แก่ประชาชนได้ทันตามกำหนดในเดือนธ.ค.ปี 2561

“ล่าสุด กทม. ยังยืนยันที่จะให้รัฐบาลรับภาระหนี้ทั้งหมดแทนกทม. แต่เรามองว่า กทม. เป็นหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งมีรายได้เป็นของตัวเองอยู่แล้ว จำเป็นต้องรับภาระหนี้สินบางส่วนไปด้วยเหมือนกับการร่วมลงทุนในโครงการ ทำให้ยังตกลงกันไม่ได้ รฟม. จึงต้องทำแผนสำรองไว้ เพราะหากตกลงกันไม่ได้ รฟม. ก็พร้อมเดินรถเองตามผลการศึกษาที่บอร์ดอนุมัติ หลังจากนี้ภายใน 1-2 สัปดาห์ จะส่งผลการศึกษาดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาว่าจะเห็นอย่างไร หากเห็นชอบให้โอนสายสีเขียวคืนมาที่รฟม. กระทรวงจะต้องเสนอเรื่องให้ คจร. พิจารณาตัดสิน ว่าจะให้รฟม. หรือ กทม. เดินรถคาดว่าจะมีชัดเจนไม่เกินเดือนม.ค. ปี 2561”

นายฤทธิกากล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นเห็นควรให้ใช้รูปแบบพีพีพี โดยได้เสนอรูปแบบการร่วมลงทุนเป็น 2 ทางเลือกคือ คือ 1. เปิดการประกวดราคาใหม่เพื่อจัดหาผู้บริหารการเดินรถ และ 2. เจรจาตรงกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ซึ่งเป็นผู้บริหารการเดินรถรายเดิมที่ทำการเดินรถเดินรถสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สำโรง และสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้าอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหากใช้วิธีนี้ก็จะทำให้การเดินรถมีความต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินการในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการตามมาตรา 35) ว่าจะตัดสินใจเลือกรูปแบบใด

นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติอนุมัติให้มีการขยายเวลาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ในส่วนของสัญญาที่ 5 งานระบบราง ช่วงหัวลำโพง-บางแค ซึ่ง มี บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เป็นผู้ดำเนินงาน เนื่องจากการดำเนินงานก่อสร้างบริเวณแยกไฟฉายล่าช้ากว่าแผน เพราะกทม. ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้งานวางรางต้อเลื่อนออกไปอีก เบื้องต้น บอร์ดอนุมัติให้ขยายเวลาสัญญา 5 ออกไปแต่ไม่ได้บอกให้ขยายไปนานแค่ไหน ต้องรอพิจารณาภาพรวมความคืบหน้าโครงการก่อน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. กล่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจาโอนหนี้สินและทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ กทม. ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ แม้ว่า รฟม. จะพยายามเจรจากับกทม. ต่อเนื่อง โดยล่าสุด รฟม. ขอให้ กทม. นำเสนอแนวทางการโอนหนี้ให้ รฟม. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา แต่กทม. ก็ยังไม่ได้นำเสนอ รฟม. จึงจำเป็นต้องหาแผนสำรองไว้ และจะต้องทำคู่ขนานกันไปเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้น เพราะหากโครงการล่าช้าคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน

“รฟม.ให้เดตไลน์ กทม. ไปแล้ว คือ เดือนต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้เกินเวลามาแล้วกทม. ก็ยังไม่ตอบอะไร เราจะต่อเวลาให้ไปจนถึงสิ้นปี จะพยายามคุย กับกทม. เพื่อขอความชัดเจนเรื่องค่าใช้จ่ายรับโอนรถไฟฟ้า และก็จะดำเนินการรูปแบบพีพีพี คู่ขนานไปด้วยเป็นแผนสำรองหากการเจรจากับกทม. ล่ม ตั้งเป้าจะต้องให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ เพื่อเสนอเรื่องให้ คจร. ตัดสินว่าจะเอาอย่างไร ให้ กทม. หรือ รฟม. ดินรถ ซึ่งขณะนี้รฟม. มีความพร้อมที่จะดูแลเดินรถเองตามเดิม โดยอาจจะใช้วิธีเจรจาตรงกับบีทีเอส ผู้เดินรถรายเดิมให้เข้ามาเดินรถ เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถส่วนต่อขยายครบทั้งหมดทันตามเป้าหมายในปี 2563”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน